คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11710-11711/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้โจทก์ที่ 3 จะเป็นผู้ถือหุ้นโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 70 ก็หาทำให้โจทก์ที่ 3 มีสิทธิดำเนินคดีจำเลยซึ่งกระทำความผิดต่อโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับและเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำนวนหลังแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 264 วรรคแรก และ 265 ความผิดฐานปลอมเอกสารและเอกสารสิทธิและความผิดฐานใช้เอกสารและเอกสารสิทธิปลอมให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 5 ปี ข้อหาอื่นและคำอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ที่ 3 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้โจทก์ที่ 3 จะเป็นผู้ถือหุ้นโจทก์ที่ 2 ถึงร้อยละ 70 ก็หาทำให้โจทก์ที่ 3 มีสิทธิดำเนินคดีจำเลยซึ่งกระทำความผิดต่อโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
มีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้จัดการของโจทก์ที่ 2 ย่อมรู้ถึงการดำเนินธุรกิจของโจทก์ที่ 2 ในการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้า การที่จำเลยมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารปลอมถึง 13 ฉบับ และมีสัญญาสามฝ่ายที่ระบุว่าโจทก์ที่ 2 แต่งตั้งให้บริษัทคังช่วงเคอจี้ (ฮ่องกง) จำกัด เป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้า และมีหนังสือรับรองของสำนักงานทนายความจิ่งเสียงกวางตุ้งรับรองสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาสามฝ่ายมีตราประทับของโจทก์ที่ 2 อยู่ด้วย นอกจากนี้จำเลยยังเป็นผู้นำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อนายวิรัตน์และนายศรัณย์ ผู้ตรวจสอบภายใน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการปลอมเอกสารดังกล่าว มิฉะนั้นก็ต้องมีส่วนรู้เห็นในการปลอมเพราะจำเลยย่อมเข้าใจดีว่าข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปตามเอกสารดังกล่าวและเอกสารดังกล่าวมาอยู่ในครอบครองของจำเลย ทั้งหลังเกิดเหตุเมื่อมีการตรวจสอบพบการกระทำความผิด จำเลยได้หลบหนีโดยไม่ไปทำงานที่บริษัทโจทก์ที่ 2 จากนั้นได้เดินทางไปยังหลายแห่ง สุดท้ายได้ลักลอบเข้าประเทศไทยทางด่านสะเดาและหลบอยู่ในกรุงเทพมหานคร หากจำเลยมิได้กระทำความผิดจริงก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะหลบหนีดังกล่าว ที่จำเลยกล่าวอ้างว่าที่หลบหนีเพราะกลัวถูกทำร้ายนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยไปก่อความเสียหายให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด รวมทั้งบิดาของนายหงด้วย อีกทั้งประเทศต่างๆ ที่จำเลยเดินทางเข้าไปนั้นเป็นประเทศที่เจริญแล้วสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานหรือตำรวจท้องที่ได้ หรือแม้กระทั่งเข้ามายังราชอาณาจักรไทยแล้วก็ขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจได้ แต่จำเลยหาได้กระทำไม่ จนกระทั่งถูกออกหมายจับและติดตามจับกุมได้พร้อมเอกสารซึ่งเป็นเช็คที่ลูกค้าของโจทก์ที่ 2 ออกชำระหนี้ให้โจทก์ที่ 2 แล้วแต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้เนื่องจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิหรือมิฉะนั้นมีส่วนร่วมรู้เห็นในการปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น เมื่อจำเลยรู้ว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมแต่ได้นำไปมอบให้นายวิรัตน์และนายศรัณย์ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจดู จึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอม ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น คงมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันหรือไม่ เห็นว่า การปลอมหนังสือค้ำประกันธนาคารก็ดี หนังสือสัญญาสามฝ่ายก็ดี เป็นการกระทำต่างรายต่างวาระและหนี้ต่างจำนวนกัน จึงเป็นความผิดแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยว่าต้องการให้มีผลแตกต่างกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน หาใช่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการที่จำเลยทำหนังสือรับรองของสำนักงานทนายความจิ่งเสียงกวางตุ้งเพื่อรับรองการกระทำสัญญาสามฝ่ายนั้นก็เพื่อสนับสนุนให้เห็นว่ามีการทำสัญญากันขึ้นจริง จึงมีเจตนาเดียวกันกับการทำสัญญาสามฝ่ายปลอม จึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท การที่จำเลยนำเอกสารสิทธิปลอมและหนังสือสำนักงานทนายความปลอมดังกล่าวไปแสดงต่อนายวิรัตน์และนายศรัณย์พร้อมกัน เป็นการใช้เอกสารซึ่งจำเลยมีวัตถุประสงค์ให้มีผลแตกต่างกันไปในหนี้และสัญญาแต่ละราย จึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระเช่นกัน รวมแล้วจำเลยกระทำความผิด 25 กระทง ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 265 ความผิดฐานปลอมเอกสารและเอกสารสิทธิกับความผิดฐานใช้เอกสารและเอกสารสิทธิปลอมให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิกับฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 2 ปี จำนวน 25 กระทง รวมจำคุก 50 ปี แต่คงให้จำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ยกฟ้องโจทก์ที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share