คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เพียงแต่มีเครื่องวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้ รับอนุญาตให้มีและใช้จากทางราชการเท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเครื่องวิทยุโทรคมนาคมของกลางเป็นเครื่องที่สามารถ ดักฟังข่าวสารราชการที่เป็นความลับของชาติได้ ประกอบกับ จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุอันสมควร รอการลงโทษจำคุกไว้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกไว้ แต่ลงโทษปรับ เพิ่มขึ้นอีกสถานหนึ่งด้วย มีผลให้จำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องรับโทษจำคุก โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดจึงเบากว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ให้ริบเมทแอมเฟตามีนและเงิน 7,280 บาท ของกลาง กับให้ริบวิทยุรับส่งของกลางที่ใช้ในการกระทำความผิดให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขและคืนธนบัตรจำนวน 300 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าพนักงาน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ แต่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 22, 23 จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 5 ปี กระทงหนึ่ง และฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1(เมทแอมเฟตามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 5 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 5 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข คืนธนบัตรจำนวน 300 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าของ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ กับให้ยก คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้เสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก และจำเลยที่ 3อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 10,000 บาทไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุก จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง จนกว่าจะครบกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาสภาพและพฤติการณ์ของการกระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เพียงแต่มีเครื่องวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้จากทางราชการเท่านั้นและตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเครื่องวิทยุโทรคมนาคมของกลางเป็นเครื่องที่สามารถดักฟังข่าวสารราชการที่เป็นความลับของชาติได้ ความผิดของจำเลยที่ 1 ไม่ร้ายแรงมากนัก ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยการรอการลงโทษจำคุกไว้ที่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 โดยที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษปรับด้วยและโจทก์มิได้อุทธรณ์ให้เพิ่มโทษปรับเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 จึงฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกไว้แม้จะลงโทษปรับเพิ่มขึ้นอีกสถานหนึ่งด้วยก็ตาม แต่การรอการลงโทษจำคุกนั้น มีผลให้จำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องรับโทษจำคุก โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดจึงเบากว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share