คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9572/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับเป็นมาตรการในการบังคับตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการผู้ร้องที่ต้องดำเนินการบังคับคดีอาญาในส่วนการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับโดยไม่อาจถือได้ว่ารัฐหรือศาลหรือโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แม้จำเลยที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวก็ตาม แต่การบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในทางแพ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 ปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 ปรับ 14,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี รวมแล้ว จำเลยที่ 1 ปรับ 20,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 15,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาค่ากระแสไฟฟ้าเป็นเงิน 10,504,340.13 บาท แก่ผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระค่าปรับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มาไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ และหมายเรียกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มาไต่สวนเกี่ยวกับการส่งเงินที่ได้จากการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้แก่ศาลเพื่อใช้ค่าปรับ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า หนี้ค่าปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงินซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 จึงต้องนำมูลหนี้ดังกล่าวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งคดีล้มละลายดังกล่าวครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งเงินหรือยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพื่อมาใช้ค่าปรับจำนวน 15,000 บาท ตามคำพิพากษา
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เป็นที่ยุติว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 335 (1) (7) วรรคสอง, 83, 91 ให้ลงโทษปรับเป็นเงิน 15,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 คดีถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การที่ผู้ร้องจะดำเนินการบังคับค่าปรับตามคำพิพากษาแก่จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อผู้คัดค้านหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาอ้างว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ส่วนเจ้าหนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่ ก็ด้วยการใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 22, 27 ซึ่งการบังคับคดีกับทรัพย์เพื่อชำระค่าปรับเป็นการบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์ของลูกหนี้ จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับต่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย คำพิพากษาของศาลที่ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยให้ปรับเป็นเงิน 15,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาดังกล่าว การชำระค่าปรับคือโทษทางอาญาที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติและการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับก็เป็นมาตรการในการบังคับตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการผู้ร้องที่จะต้องดำเนินการบังคับคดีอาญาในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับโดยไม่อาจถือได้ว่ารัฐหรือศาลหรือโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ที่จะต้องยื่นคำขอรับชำระค่าปรับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์แต่ผู้เดียวก็ตาม แต่การบังคับโทษปรับแก่จำเลยที่ 1 เป็นการใช้อำนาจของรัฐเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญา โดยศาลและพนักงานอัยการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายอาญาที่จะต้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับเต็มจำนวนตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าปรับต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเช่นเดียวกับหนี้เงินในทางแพ่ง มิฉะนั้นแล้ว การลงโทษทางอาญาจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญาจัดเป็นกฎหมายมหาชนว่าด้วยความผิด และโทษอาญาเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ ทั้งการกระทำความผิดนั้นยังได้ชื่อว่ากระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของประชาชนเป็นส่วนรวม จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share