แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยตั้งยอดเบิกเงินตามจำนวนทหารที่จะได้รับเงินเดือนนั้น จำเลยอาจต้องลงบัญชีไว้ก่อน เพื่อจะได้จ่ายในวันหลัง ดังจำเลยต่อสู้ก็ได้เมื่อไม่ได้ความว่าบัญชีไม่ตรงตามจำนวนทหารในเดือนใด การที่ทหารมารับเงินเดือนไม่ครบจำนวนจำเลยลงบัญชีจ่ายเต็มจำนวนให้ตรงกับบัญชีเงินสดประจำวันก็ไม่ได้หลักฐานว่ามีระเบียบข้อบังคับห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้นดังนี้จะวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการปลอมหนังสือไม่ถนัด
บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดหลายกระทงขอให้ลงโทษตามมาตรา 319, ข้อ (3) ฯลฯ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าทางราชการจัดให้จำเลยทำหน้าที่เบิกจ่ายเงินจำเลยยักยอกเอาเงินรายนี้ไปจริงดังนี้ ก็ตรงกับคำฟ้องส่วนที่กล่าวว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานนั้นแม้ทางพิจารณาจะไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานโดยตรงก็ยังถือไม่ได้ว่าคดีได้ความตามทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นพลเรือนสังกัดกรมสรรพาวุธทหารบกมีตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานลงบัญชีจ่ายเงินเดือนพลทหารและบัญชีเงินสดรายวัน ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2495 ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2496จำเลยได้ลงบัญชีจ่ายเงินเดือนพลทหารแสดงยอดเงินจ่ายสูงกว่าจำนวนที่จ่ายจริง เพื่อให้เท่ากับกับจำนวนเงินจ่ายในบัญชีเงินสดรายวัน โดยเจตนาทุจริตและจะให้เป็นหลักฐานในหนังสือราชการ อันสามารถอาจเกิดความเสียหายแก่กองโรงงานวัตถุระเบิดกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก และร้อยเอกเกียรติเหมือนฤทธิ์ ได้ และจำเลยได้ยักยอกเงินของกองโรงงานวัตถุระเบิดฯ ซึ่งได้รับมอบหมายจากร้อยเอกเกียรติ เหมือนฤทธิ์ ไปเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัวเสียรวม 8,883 บาท 59 สตางค์ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131, 222, 223, 224, 225, 229, 230, 319 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน8,883 บาท 59 สตางค์ แก่ของโรงงานวัตถุระเบิดฯ
จำเลยให้การว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นเพียงคนงานรายวันทางราชการสั่งให้มาทำหน้าที่เสมียนลงบัญชีจ่ายเงินเดือนทหารการทำการจ่าย จำเลยได้คัดชื่อ พลทหารตามสำนวนที่มีอยู่จริงเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อเบิกจ่าย แต่เมื่อจ่ายเงินเดือนทุกครั้งพลทหารมารับไม่ครบตามจำนวน ฉะนั้นจึงมีเงินเหลืออยู่ที่จำเลยจำเลยได้เก็บไว้ 8,883 บาท 59 สตางค์จริง เมื่อเกิดคดีนี้แล้วจำเลยได้มอบคืนไปแก่ผู้บังคับบัญชา 4,000 บาท กับทรัพย์สินอย่างอื่นอีก 4,000 บาท รวมเป็น 8,000 บาท ยังขาดอีก 883 บาท59 สตางค์ จำเลยยินดีจะให้ให้จนครบ
ศาลทหารกรุงเทพฯ เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ ปลอมหนังสือและยักยอกทรัพย์ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131, 230 ประกอบท้ายพระราชบัญญัติกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 ให้รวมกระทงลงโทษจำคุก 5 ปี ปรานีลดโทษฐานรับสารภาพตามมาตรา 59 เสีย 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้ 3 ปี กับ 4 เดือน จำเลยมอบคืนให้กรรมการแล้ว 4,000 บาทให้จำเลยใช้แก่กองสรรพาวุธทหารบกอีก 4,883 บาท 59 สตางค์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลทหารบกกลางคงเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่เห็นว่าจำเลยเป็นคนงานรับค่าจ้างรายวันมิได้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131, 230 พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดฐานปลอมหนังสือสำคัญในราชการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 225 กระทงหนึ่งฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 319(3) อีกกระทงหนึ่ง ให้รวมกระทงลงโทษจำคุก 4 ปี ลดฐานปรานีตามมาตรา 59 เสีย 1 ใน 3 คงจำคุกไว้ 2 ปี 8 เดือน นอกนี้พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลทหารบกกลางให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมหนังสือนั้น ทางพิจารณาไม่ได้ความชัดว่าจำเลยกระทำการปลอมหนังสือการที่จำเลยตั้งยอดเบิกเงินตามจำนวนทหารที่จะได้รับเงินเดือนก็ไม่ได้ความว่าไม่ตรงตามจำนวนทหารในเดือนใด การที่ทหารมารับเงินเดือนไม่ครบจำนวน จำเลยลงบัญชีจ่ายเต็มจำนวนให้ตรงกับบัญชีเงินสดประจำวันก็ไม่ได้หลักฐาน ว่ามีระเบียบข้อบังคับห้ามไม่ให้ทำเช่นนั้น จำเลยอาจต้องลงบัญชีไว้ก่อน เพื่อจะได้จ่ายในวันหลังดังจำเลยต่อสู้ก็จะเป็นได้ ฉะนั้นข้อนี้จะวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการปลอมหนังสือไม่ถนัดตามคำให้การของจำเลยรับว่าวิ่งเต้นหาเงินมาใช้แล้ว คงยังขาดอีก 883 บาท 59 สตางค์นั้นเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้คิดทุจริตเบียดบังยักยอกเอาเงินที่จำเลยได้รับมอบหมายไว้ในหน้าที่นี้ไปตามมาตรา 319 ข้อ (3) ส่วนที่กล่าวว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน แม้ทางพิจารณาจะไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานก็ยังถือไม่ได้ว่าคดีได้ความตามทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้องดังจำเลยคัดค้าน
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทหารบกกลางว่าจำเลยมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ในหน้าที่ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 319 ข้อ (3)กระทงเดียวให้วางโทษจำคุก 2 ปี ลดฐานปรานีตาม มาตรา 59 เสีย 1 ใน 3 คงจำไว้หนึ่งปีกับสี่เดือน และให้จำเลยใช้เงินให้กองโรงงานวัตถุระเบิดกรมสรรพาวุธทหารบกอีก 4,883 บาท 59 สตางค์นอกนี้ยก