คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10653/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ที่มีความรู้สึกผิดชอบดีแล้วก็มีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์หรือถอนคำร้องทุกข์เองได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 283 ทวิ, 318 นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 766/2549 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายนิ่ม ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาวรสทรหรือตั๊ก ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตและขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง เพราะเหตุได้รับความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ (ที่ถูก 283 ทวิ วรรคแรก), 318 วรรคสาม และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำ (ที่ถูก ของจำเลยที่ 1) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงกับความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 20 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 26 ปี นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 766/2549 ของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย (ที่ถูก โจทก์ร่วม) ทั้งสอง เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า นางสาวรสทรหรือตั๊ก โจทก์ร่วมที่ 2 เกิดวันที่ 21 พฤษภาคม 2533 เป็นบุตรของนายประวิทย์กับนางกัญยา นายประวิทย์ถึงแก่ความตายไปแล้วส่วนนางกัญยาไปประกอบอาชีพต่างอำเภอ ขณะเกิดเหตุ โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุ 15 ปีเศษ เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนวัดบางไทร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และไม่ได้เป็นภริยาของจำเลยทั้งสองกับพวก อยู่ในความดูแลของนายนิ่ม โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นตา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปแจ้งต่อพันตำรวจโทชัยยันต์ พนักงานสอบสวนว่า โจทก์ร่วมที่ 2 หายไปตั้งแต่วันที่ 16 เดือนเดียวกัน เวลา 7 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 20 เดือนเดียวกัน เวลาประมาณ 20 นาฬิกา นางสาวขนิษฐาพาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปแจ้งต่อพันตำรวจโทชัยยันต์ว่า นางสาวขนิษฐาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ร้านน้ำชาริมเขื่อนแม่น้ำปากพนังหน้าโรงพยาบาลปากพนัง พันตำรวจโทชัยยันต์พบว่าโจทก์ร่วมที่ 2 มีสภาพอิดโรยและพูดวกวน จึงส่งตัวไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลปากพนัง มีแพทย์หญิงพรศิลป์เป็นผู้ตรวจร่างกาย และวันที่ 27 เดือนเดียวกัน โจทก์ร่วมที่ 2 ไปให้การต่อพันตำรวจโทชัยยันต์ อ้างว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ร่วมที่ 2 ถูกนายวัชระหรือบี นายโจ้หรือโจ และจำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนร่วมกันพาไปผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราหลายแห่งหลายครั้ง แล้วพาไปที่ร้านน้ำชาดังกล่าว วันที่ 28 เดือนเดียวกัน พันตำรวจโทชัยยันต์ขอศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2550 พันตำรวจตรีประภาสจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมได้ในคดีอื่น
สำหรับความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคท้าย เมื่อปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ขอถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 1 แล้ว โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งว่า ขณะยื่นคำร้องโจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ จึงขอถอนคำร้องทุกข์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ และให้ยกคำร้องซึ่งเป็นการไม่ชอบ เพราะการยื่นคำร้องทุกข์หรือคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ที่มีความรู้สึกผิดชอบดีแล้วก็มีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์หรือคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เองได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยให้เพิกถอนคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ให้ยกคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ ฉบับวันที่ 16 ธันวาคม 2551 แต่เนื่องจากสำนวนขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เพื่อให้คดีดำเนินไปโดยรวดเร็ว เห็นสมควรมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งใหม่และเห็นว่า ขณะโจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์มีอายุ 18 ปีเศษ มีความรู้สึกผิดชอบดีแล้วและขณะนี้อายุกว่า 20 ปี พ้นจากความเป็นผู้เยาว์แล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานดังกล่าวออกจากสารบบความ ส่วนความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ และโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ จึงให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ 2 ในส่วนนี้…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก ออกจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share