แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากวิธีรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของฝ่ายจำเลย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจากการรักษาพยาบาลไม่ครบถ้วนตามหลักวิชาชีพเวชกรรม อันถือได้ว่าเป็นการตายในทันทีจากการทำละเมิด ไม่เข้ากรณีที่มิได้ตายในทันที จึงไม่มีค่ารักษาพยาบาลผู้ตายภายหลังจากผู้ตายถูกทำละเมิดจนถึงเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันจะเรียกเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสอง ส่วนเงินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นค่าสินจ้างจากสัญญาจ้างทำของที่โจทก์จ้างให้จำเลยที่ 1 รักษาพยาบาลผู้ตายตามปกติ มิใช่ค่ารักษาพยาบาลที่ได้จ่ายไปภายหลังจากการทำละเมิดจนถึงเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชดใช้คืนในฐานะเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 2,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 5 มิถุนายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำมาชำระต่อศาลในนามโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระแทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 498,189 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางปราณี ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาล ซาน เปาโลหัวหิน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นพยาบาลประจำโรงพยาบาลซาน เปาโล หัวหิน และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2543 โจทก์พาผู้ตายซึ่งป่วยเป็นไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 หลังจากแพทย์เวรตรวจอาการผู้ตายแล้วจึงรับตัวไว้รักษา โดยวินิจฉัยว่าเป็นไข้ทับระดู จำเลยที่ 3 เป็นผู้วินิจฉัยอาการป่วยของผู้ตาย โดยการฉีดยาและให้รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด จำเลยที่ 3 รักษาผู้ตายจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2543 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 จึงเข้ารับช่วงรักษาต่อจากจำเลยที่ 3 วันดังกล่าวเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ผู้ตายมีอาการผิดปกติ ปวดที่ขาทั้งสองข้างมาก ใบหน้าบวมแดงและมีผื่นขึ้นตามตัว เมื่อโจทก์ตามจำเลยที่ 2 ให้ไปดูอาการ จำเลยที่ 2 เชื่อว่าอาการปวดของผู้ตายสืบเนื่องมาจากอาการไข้จึงสั่งให้พยาบาลฉีดยาให้แก่ผู้ตายที่สะโพก 1 เข็ม และฉีดเข้าสายน้ำเกลืออีก 1 เข็ม เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ระบบการหายใจของผู้ตายผิดปกติ หายใจไม่ออก ใบหน้าคล้ำ เมื่อโจทก์ไปตามพยาบาลมาดูอาการ พยาบาลวัดความดันโลหิตผู้ตาย ปรากฏว่าความดันโลหิตตก จึงตามจำเลยที่ 2 มาดูอาการ จำเลยที่ 2 ให้นำผู้ตายไปรักษาที่ห้อง ไอ ซี ยู ต่อมาผู้ตายถึงแก่ความตาย ในคืนวันเดียวกันนั้นเองโจทก์นำศพผู้ตายไปตรวจหาสาเหตุการตายที่แท้จริงที่สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และร้องเรียนไปยังแพทยสภาให้สอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 คณะกรรมการแพทยสภาได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนเกี่ยวกับมาตรฐานประกอบวิชาชีพของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อมาคณะอนุกรรมการดังกล่าวมีความเห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่อาจวินิจฉัยสมมติฐานของโรคที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยของผู้ตายได้ การซักประวัติ การตรวจร่างกายขาดความสมบูรณ์ครบถ้วน การสั่งตรวจและการแปลผลการตรวจยังไม่เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การสั่งการรักษาเป็นไปตามแบบตามอาการ การประกอบอาชีพเวชกรรมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงถือได้ว่ายังไม่ได้มาตรฐานในระดับที่ดีที่สุด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของแพทยสภา คณะกรรมการแพทยสภาโดยเสียงส่วนใหญ่ลงมติให้ลงโทษว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 2 และที่ 3 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 4/2547 ลงวันที่ 8 เมษายน 2547 สาเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 ใช้วิธีการรักษาไม่ครบถ้วนตามหลักวิชาชีพเวชกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 หมวด 3 ข้อ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 443 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในผลแห่งการนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 คดีสำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องคืนเงินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์เสียให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 18,609 บาท หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากวิธีการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของฝ่ายจำเลย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจากการรักษาพยาบาลไม่ครบถ้วนตามหลักวิชาชีพเวชกรรม อันถือได้ว่าเป็นการตายในทันทีจากการทำละเมิด ไม่เข้ากรณีที่มิได้ตายในทันที จึงไม่มีค่ารักษาพยาบาลผู้ตายภายหลังจากผู้ตายถูกทำละเมิดจนถึงเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันจะเรียกเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสอง ส่วนเงินค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นค่าสินจ้างจากสัญญาจ้างทำของที่โจทก์จ้างให้จำเลยที่ 1 รักษาพยาบาลผู้ตายตามปกติ มิใช่ค่ารักษาพยาบาลที่ได้จ่ายไปภายหลังจากการทำละเมิดจนถึงเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชดใช้คืนในฐานเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดดังฟ้องของโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันชำระแก่โจทก์จำนวน 914,000 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้นำเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปวางชำระแก่โจทก์โดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เห็นว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้มีการวางเงินเพื่อชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามที่ได้อ้างไว้ในฎีกาแต่อย่างใด ประกอบกับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็มิได้ยอมรับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งหมดด้วย ฉะนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 914,000 บาท นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 914,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7