คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1973/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีเหล็กกั้นถนนขวางออกมาเกะกะอยู่ รถที่จำเลยขับมาโดยเร็วเกินควรจึงชนเหล็กนั้นเป็นเหตุให้คนตาย ถ้าปรากฏว่าหากจำเลยขับไม่เร็วกว่าที่ควร จำเลยก็จะขับรถหลบพ้นไปได้ ดังนี้ ได้ชื่อว่าความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย เป็นความผิดตาม มาตรา 252

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2495 เวลากลางคืน จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยได้ขับรถยนต์เก๋งเลขทะเบียนก.ท.9834 ของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ไปตามถนนพหลโยธินมุ่งจะไปดอนเมือง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังอันควรเป็นวิสัยของปกติชนและฝ่าฝืนกฎหมาย โดยจำเลยได้ขับรถยนต์ไปด้วยความเร็วเกินกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทยออกพระราชบัญญัติจราจรทางบก และประกาศของเจ้าพนักงานจราจรซึ่งห้ามมิให้ขับรถในเขตเทศบาลเกินกว่า 22.50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างเวลา 20.00 นาฬิกา ถึง 6.00 นาฬิกาและจำเลยได้ขับรถยนต์ผ่านเขตทางซึ่งมีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานจราจรแสดงว่าเป็นอันตรายและขับผ่านทางแยก (สามแยก) ระหว่างถนนประดิพัทธ์กับถนนพหลโยธิน ด้วยความเร็วสูงกว่า 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามเดิม ซึ่งเป็นอัตราเกินกำหนดกฎกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว อันเป็นความประมาทและเป็นเหตุน่าหวาดเสียวอาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนโดยจำเลยมิได้ระมัดระวังลดความเร็วลงตามควรและจำเลยขับรถกินทางไปทางขวาของทาง เป็นการขับรถผิดทางฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนเหล็กกั้นถนน ซึ่งตั้งอยู่ริมของทางด้านขวาโดยแรง ปลายเหล็กแทงทะลุกระจกด้านหน้าใกล้มุมขวาของรถ และปลายเหล็กนั้นถูกศีรษะนายวิจิตร อรรควิจิตรไกรฤกษ์ ซึ่งนั่งอยู่ในรถที่จำเลยขับตอนหลังด้านซ้ายโดยแรง เป็นเหตุให้กระโหลกศีรษะแตก ถึงแก่ความตายทันทีเพราะพิษบาดแผลนั้นและเนื่องจากการกระทำของจำเลยเหล็กเครื่องกีดขวางหลุดออกจากแท่นโกนเหล็กนั้นได้ฟาดด้านหลังของรถเก๋งเลขทะเบียน ก.ท.8667 ของนายร้อยตำรวจเอกชวน กิมอักษร ซึ่งจอดอยู่ริมของทางด้านขวานอกถนนพหลโยธิน ทำให้กระจกแตก ตัวถังรถด้านหลังบุบและฉีกเสียหายเป็นราคาเงิน 20,000 บาท และรถที่จำเลยขับได้ตกลงไปในคูทับสะพานไม้ของนายฤทธิ์ ศรีประยูร หักเสียหายคิดเป็นราคา 2,000 บาทเหตุเกิดในเขตเทศบาลนครกรุงเทพฯ ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร

จำเลยให้การปฏิเสธว่า มิได้กระทำผิดดังโจทก์หา แต่รับว่าในวันเกิดเหตุจำเลยขับรถด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ศาลแขวงพระนครเหนือพิจารณาแล้ว ทำความเห็นส่งศาลอาญาโดยฟังว่าเลยขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้นายวิจิตรถึงแก่ความตายมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 252 ควรจำคุกจำเลย 2 ปีกับมีผิดฐานขับรถเร็วเกินกำหนด และขับรถผิดทางตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9, 28, 29 พระราชบัญญัติจราจรทางบก(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 ควรปรับ 100 บาท

ศาลอาญาวินิจฉัยว่า จำเลยขับรถไปในอัตราความเร็วเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจริง แต่ฟังว่าจำเลยขับรถอยู่กลางถนนมิได้ขับกินทางไปทางขวาอันเป็นการขับรถผิดทาง เหตุที่รถแล่นไปชนเหล็กกั้นถนนน่าเชื่อว่าเพราะเหล็กกั้นถนนนั้นได้ล้ำถนนเข้ามา ศาลอาญาเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหาใช่เป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยไม่เพราะถ้าหากเหล็กกั้นถนนไม่ออกมาอยู่กลางถนน และความประมาทของจำเลยก็ไม่มี การตายก็จะไม่เกิดขึ้น จะลงโทษจำเลยฐานทำให้คนตายโดยประมาทตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 252 ไม่ได้จำเลยคงมีความผิดแต่ฐานขับรถเร็วเกินกำหนด จึงพิพากษาว่าจำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 28, 66 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2481 มาตรา 4 ให้ปรับจำเลย 100 บาท ลดรับสารภาพให้กึ่งหนึ่งตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 คงปรับ 50 บาท ข้อหานอกจากนี้ให้ยก

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ความในเบื้องต้นว่า ถนนพหลโยธินทางที่จะไปดอนเมืองตอนสะพานควายนั้นมีเหล็กกั้นถนน เหล็กกั้นนี้เป็นท่อยาวราว 13 เมตรเศษ เส้นผ่าศูนย์กลางตอนปลายของเหล็กยาว 3 นิ้วทางโคนโตกว่านั้น ถ้าไม่ติดอะไรเหล็กนั้นหมุนได้รอบตัว เพราะทางโคนเหล็กมีแท่นและมีแกนเป็นจุดหมุนสูงจากดิน 1 เมตร และทางปลายก็มีเหล็กรองรับและมีลูกล้อ แต่ไม่ได้ใช้เหล็กนี้กั้นถนนมาราว 1 ปีแล้วคงหมุนปลายเหล็กมาเก็บแอบไว้ทางขวามือของทางที่จะไปดอนเมืองปลายเหล็กชี้ไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ปลายเหล็กยังล้ำออกไปที่ถนนลาดยางราว 1 เมตร จะเก็บให้ชิดกว่านี้ไม่ได้เพราะตอนกลางของเหล็กจะติดตู้ยามตำรวจ ถนนที่ลาดยางในตอนนั้นกว้าง 7 เมตร (ตามแผนที่ว่ากว้าง 7.50 เมตร เฉพาะตอนที่เกิดเหตุกว้าง 8.60 เมตร)

คืนโจทก์หาเวลา 5.05 นาฬิกา นายวิจิตร ผู้ตาย นั่งรถยนต์เก๋งเลขที่ ก.ท.9824 ของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติซึ่งจำเลยเป็นผู้ขับออกจากบ้านที่ถนนราชวิถี เพื่อส่งนางสาวภัทราภรณ์ซึ่งจะขึ้นเครื่องบินไปนอกที่ดอนเมือง ตอนท้ายของรถมีนายจรูญ และเด็กชายปรมาภรณ์นั่งไปด้วย นายวิจิตรนั่งทางซ้าย นายจรูญนั่งกลาง เด็กชายปรมาภรณ์ นั่งทางขวา ส่วนตอนหน้ารถมีนางสมจิตรนั่งคู่ไปกับจำเลยรถวิ่งไปตามถนนพหลโยธินพอจวนถึงตู้ยามหน้าสะพานควาย รถได้ชนปลายเหล็กสำหรับกั้นถนนนั้น ปลายเหล็กได้แทงกระจกหน้ารถตอนขวามือทะลุ แล้วเลยไปแทงถูกศีรษะนายวิจิตรกระโหลกศีรษะแตก นายวิจิตรถึงแก่ความตายทันที จำเลยสลบไป นอกนั้นไม่มีใครเป็นอันตรายเมื่อรถชนแล้วรถได้ตกลงไปในคูทางด้านขวาของถนน ทับสะพานไม้หัก และโคนเหล็กกั้นถนนได้หลุดจากแท่นไปกระแทกท้ายรถเก๋งของนายร้อยตำรวจเอกชวน ซึ่งจอดทางขอบขวาของถนนเสียหาย ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาราว 5.30 นาฬิกา อากาศขมุกขมัว ไฟฟ้าตามถนนเสียตลอดจนเหล็กกั้นถนนก็ไม่มีไฟจุดอยู่ ในบริเวณนั้นไม่มีคนเดินไปมาและไม่มีรถสวนทาง ตรงนั้นยังอยู่ในเขตเทศบาล

ศาลอุทธรณ์คงฟังว่า จำเลยขับรถมากลางถนน ไม่ได้กินทาง ๆ ขวาและฟังว่าปลายเหล็กกั้นกางออกไปขวางถนน ไม่ได้แอบอยู่ข้างถนนตามสภาพเดิม ดังนั้นการที่นายวิจิตร ถูกเหล็กกั้นถนนแทงตาย จึงเป็นเรื่องที่เกิดจากการที่เหล็กนั้นมาขวางถนน ไม่ใช่เกิดจากจำเลยขับรถเร็ว จะว่าจำเลยขับรถประมาททำให้นายวิจิตรตายไม่ได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น และอุทธรณ์ของจำเลยเกี่ยวกับประกาศของเจ้าพนักงานจราจรกำหนดความเร็วก็ฟังไม่ขึ้นดุจกัน ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยมีอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาได้

ศาลฎีกาตรวจปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาคดีคงฟังได้ในเบื้องต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ได้กล่าวมา ปัญหาสำคัญที่จะต้องพิจารณาในชั้นนี้คงมีว่า ขณะที่รถจำเลยขับชนเหล็กสำหรับกั้นถนนนั้น รถจำเลยแล่นอยู่กลางถนนหรือว่าแล่นกินทางไปทางขวาของทาง ข้อนี้ได้ความตามคำของนายจรูญ และเด็กชายปรมาภรณ์พยานโจทก์ว่า รถจำเลยวิ่งไปกลางถนน และนายจรูญยังเบิกความว่า พยานเห็นมีเหล็กกั้นถนนขวางถนนอยู่ นายวิจิตรเป็นคนเห็นก่อน ได้พูดว่า ที่นี่เขากั้นกันด้วยหรือพยานว่าเอ๊ะ ทันใดนั้นรถได้หลบเหล็กไปทางซ้าย แล้วเสียงดังโครมฝ่ายจำเลยตัวจำเลยและนางสมจิตรก็ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถไปกลางถนน เมื่อพยานโจทก์เบิกความรับสมพยานจำเลยอยู่ดังนี้คดีก็ต้องฟังว่าขณะรถจำเลยแล่นชนเหล็กสำหรับกั้นถนนนั้น รถจำเลยแล่นอยู่กลางถนนหาใช่แล่นกินทางไปทางขวาไม่ เมื่อฟังว่าขณะเกิดเหตุรถจำเลยแล่นอยู่กลางถนนแล้ว ก็ต้องฟังว่าเหล็กกั้นถนนกางออกมาขวางถนน รถจำเลยจึงชนเหล็กนั้น เพราะถ้าเหล็กกั้นถนนแอบอยู่ริมถนนตามสภาพเดิม คือปลายเหล็กล้ำถนนลาดยางออกไปเพียง 1 เมตรแล้วรถจำเลยจะชนเหล็กนั้นไม่ได้เลย เหล็กกั้นถนนนี้มีแกนหมุนได้ทางปลายก็มีเหล็กซึ่งมีลูกล้อรองรับ ย่อมเคลื่อนออกไปได้ไม่ยากนักขณะเกิดเหตุอาจจะถูกใครหรืออะไรดันออกมาก็ได้ อนึ่ง ตามคำนายจรูญพยานโจทก์ก็ว่าเห็นมีเหล็กกั้นถนนขวางถนนอยู่ และผู้ตายยังได้พูดขึ้นว่านี่เขากั้นถนนด้วยหรือแสดงว่า เหล็กนั้นคงออกมาขวางถนนอยู่จริง

อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เหล็กกั้นถนนจะออกมาขวางถนนรถจำเลยจึงชนเอาก็ดี แต่คดีก็ได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถมาโดยความเร็วเกินกว่าอัตราตามที่เจ้าพนักงานกำหนดตามกฎหมายและน่าเชื่อว่าขณะนั้นจำเลยขับรถมาในอัตราความเร็วสูงมาก ซึ่งปรากฏตามคำนายจรูญว่า จำเลยขับรถวันนั้นเร็วกว่ารถที่พยานเคยนั่งมาจนรู้สึกหวาดเสียว คำเด็กชายปรมาภรณ์ก็ว่า จำเลยขับรถวันนั้นเร็วกว่าปกติที่พยานเคยนั่ง และว่ารถจำเลยแล่นขึ้นหน้ารถคนอื่นราว 2-3 คันก่อนจะเกิดเหตุ นอกนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อชนเหล็กกั้นถนนแล้วรถจำเลยยังแล่นไปอีกหลายวาจนไปตกลงในคู และด้วยความเร็วของรถนี้เองทำให้เหล็กกั้นถนนที่ถูกชนหักและติดคารถจำเลยอยู่และตอนโคนของเหล็กนั้นได้หลุดออกจากแท่นกระเด็นไปกระแทกท้ายรถเก็งอีกคันหนึ่งซึ่งจอดเสียหายมาก และถึงกับทำให้รถนั้นเคลื่อนเหตัวไป ถ้าหากจำเลยขับรถไปในอัตราความเร็วพอสมควรแล้วจำเลยควรจะเห็นเหล็กกั้นถนนนั้น และหักหลีกพ้นไปได้ เพราะจำเลยเองก็รับว่าขณะเกิดเหตุเปิดไฟหน้ารถทั้ง 2 ดวง ตลอดเวลา ปกติมองเห็นข้างหน้าในระยะ 15 เมตร ถ้าจำเลยไม่ขับรถเร็วเกินควรแล้วจำเลยย่อมมีเวลาห้ามล้อรถและหักหลบไม่ให้เกิดชนเหล็กนั้นได้แม้นายสุนทรพยานจำเลยเองซึ่งขับรถไปก่อนได้เห็นเหล็กรายนี้ขวางถนนอยู่ก็ยังหักหลบไปได้ ฉะนั้น ถึงหากว่าเหล็กกั้นถนนจะออกมาขวางถนนอยู่ก็ตาม การที่จำเลยขับรถชนเหล็กกั้นถนน เป็นเหตุให้เหล็กแทงถูกนายวิจิตรถึงแก่ความตาย ก็ต้องฟังว่าเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากจำเลยขับรถเร็วเกินสมควรด้วยเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยฐานประมาท ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 252 ดังโจทก์ฟ้อง

จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 252 ให้จำคุกจำเลย 2 ปี (สองปี) แต่เห็นว่าจำเลยมีอายุในขณะเกิดเหตุเพียง 24 ปี ไม่ปรากฏว่าเคยรับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งเมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์และสภาพของความผิดดังกล่าวมา สมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้ก่อน จึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 41 ที่แก้ไขเพิ่มเติมมีกำหนด 3 ปี (สามปี) นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา นอกนั้นคงยืน

Share