คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9543/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้อื่นแล้วยกให้วัดโจทก์ที่ 1 ขณะที่โจทก์ที่ 1 ยังไม่เป็นนิติบุคคล ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 โดยมีโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส โจทก์ที่ 2 ก็ได้แสดงเจตนายืนยันว่าได้มีการยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ตลอดมาโดยมีการทำบันทึกถ้อยคำว่า โจทก์ที่ 1 มีความประสงค์ขอรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ถือได้ว่ามีเจตนาอุทิศที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่สร้างวัดที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของแผ่นดินสำหรับใช้เป็นที่สำหรับสร้างวัดโจทก์ที่ 1 ตามเจตนาของผู้อุทิศทันทีโดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อสร้างวัดโจทก์ที่ 1 เสร็จเรียบร้อย กระทรวงศึกษาธิการและมหาเถรสมาคมเห็นชอบให้ตั้งวัดโจทก์ที่ 1 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2513 ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แล้วตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น การที่โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยไปรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 1 มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนซึ่งมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยไปยังจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มีโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าอาวาสมีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2508 โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา จากนายไฝ โดยเจตนาอุทิศให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ปลูกสร้างกุฏิสงฆ์เลขที่ 373/37 บนที่ดินแปลงดังกล่าวและครอบครองแทนโจทก์ที่ 1 โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่าสิบปีที่ดินแปลงดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการรับโฉนดที่ดินเลขที่ 6696, 533, 3150 และ 6736 จากเจ้าพนักงานที่ดินที่จังหวัดชลบุรี และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยกลับปลอมหนังสือมอบอำนาจเป็นว่า โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ให้จำเลยและยึดหน่วงโฉนดที่ดินเลขที่ 533, 3150 และ 6736 ของโจทก์ที่ 1 ไว้ ต่อมาจำเลยรื้อถอนกุฏิสงฆ์เลขที่ 373/37 ราคาประมาณ 400,000 บาท ของโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 21 เมษายน 2530 ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยและพิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 6696, 533, 3150 และ 6736 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี ให้โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดและเริ่มมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2514 ดังนั้นขณะที่โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทในปี 2508 โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่มีสภาพบุคคลจึงเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์ที่ 2 จะครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 หรือเจตนาจะอุทิศที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดและเริ่มมีฐานะเป็นนิติบุคคลโจทก์ที่ 1 ไม่เคยครอบครองหรือมอบหมายให้โจทก์ที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยโจทก์ที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนขายด้วยความสมัครใจ โรงเรือนเลขที่ 373/37 ไม่ใช่กุฏิสงฆ์แต่เป็นบ้านพักที่จำเลยก่อสร้างในราคา 100,000 บาท จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีอำนาจรื้อถอน จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินเลขที่ 533, 3150 และ 6736 ไว้จนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระเงินจำนวน 45,000 บาท ที่จำเลยทดรองจ่ายในการดำเนินการจดทะเบียนให้ที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกนายบัณฑิตกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยให้เรียกนายบัณฑิต เริงนภดล เป็นจำเลยร่วมที่ 1 และธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 2
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากนายไฝตั้งแต่ปี 2508 และครอบครองเพื่อตนเองมาโดยตลอดไม่เคยครอบครองแทนโจทก์ที่ 1 และไม่เคยยกให้โจทก์ที่ 1 อีกทั้งโจทก์ที่ 1 ไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต หนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2530 ไม่ใช่เอกสารปลอม โรงเรือนเลขที่ 373/37 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทไม่ใช่กุฏิสงฆ์แต่เป็นบ้านพักที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นเอง และมีราคาไม่เกิน 50,000 บาท จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนเพื่อขอกู้ยืมเงินจากจำเลยร่วมที่ 2 ไปใช้ในการเผยแพร่และพัฒนาพุทธศาสนา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 2 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 2 รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยร่วมที่ 1 ไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ทั้งสองมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่มรณภาพ โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะทายาทจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 21 เมษายน 2530 ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย ให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 ตามสัญญาให้ที่ดินฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2533 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกัน ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2533 ให้จำเลยส่งมอบโฉนดเลขที่ 6696, 533, 3150, 6736 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี ให้แก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6696 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูกค่าขึ้นศาล) ให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยร่วมทั้งสองให้เป็นพับ ยกเว้นค่าทนายความ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2508 โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6696 ตำบลแสนสุข (หนองมน) อำเภอเมืองชลบุรี (บางพระ) จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา จากนายไฝ แล้วยกให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาตามสำเนาประกาศกระทรวงศึกษาธิการเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2530 จำเลยรับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 ให้ปรับโฉนดที่ดิน 6696, 533, 3150 และ 6736 จากสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรีตามเอกสารหมาย จ.9 และในวันเดียวกันนั้นจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 20 เมษายน 2530 เอกสารหมาย จ.18 ที่โจทก์ที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจโดยจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้แก่ตนเอง วันที่ 18 กันยายน 2533 จำเลยจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยร่วมที่ 1 และในวันเดียวกันจำเลยร่วมที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการกู้ยืมเงินไว้แก่จำเลยร่วมที่ 2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ว่า ขณะที่โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากผู้อื่นแล้วยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1ระหว่างนั้นโจทก์ที่ 1 ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและยังไม่มีการสร้างวัด ข้ออ้างของโจทก์ที่ 2 ที่ว่าได้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 จึงเลื่อนลอยและไม่มีเหตุผล โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้อื่นแล้วยกให้โจทก์ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2508 ขณะที่โจทก์ที่ 1 ยังไม่เป็นนิติบุคคลก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเอกสารหมาย จ.1 โดยมีโจทก์ที่ 2 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ก็ได้แสดงเจตนายืนยันว่าได้มีการยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 1 ตลอดมาโดยมีการทำบันทึกถ้อยคำตามเอกสารหมาย จ.25 ว่า โจทก์ที่ 1 มีความประสงค์ขอรับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2513 ที่ดินพิพาทที่โจทก์ที่ 2 ยกให้โจทก์ที่ 1 ถือได้ว่ามีเจตนาอุทิศที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่สร้างวัด ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของแผ่นดินสำหรับใช้เป็นที่สำหรับสร้างวัดโจทก์ที่ 1 ตามเจตนาของผู้อุทิศทันทีโดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 เมื่อสร้างวัดโจทก์ที่ 1 เสร็จเรียบร้อย กระทรวงศึกษาธิการและมหาเถรสมาคมเห็นชอบให้ตั้งวัดโจทก์ที่ 1 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2513 ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโจทก์ที่ 1 โดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของวัดโจทก์ที่ 1 แล้วตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 จะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น ประเด็นที่ว่า โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยไปรับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะถึงอย่างไรจำเลยไม่มีสิทธิรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของวัดโจทก์ที่ 1 มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ซึ่งมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยไปยังจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ส่วนที่จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาเกินคำขอ เพราะคำฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้บังคับจำเลยร่วมที่ 1 คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่อาจบังคับแก่จำเลยร่วมที่ 1 ด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมแล้วโดยมีคำฟ้องเดิมเป็นหลัก หนี้ตามคำฟ้องเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างจำเลยและจำเลยร่วม คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงบังคับและมีผลผูกพันจำเลยร่วมด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท

Share