คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3727/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กิจการสถานธนานุเคราะห์มิได้เป็นกิจการที่ให้เปล่าดังเช่นมูลนิธิหรือกิจการสาธารณกุศล แม้จะมีนโยบายสงเคราะห์และช่วยเหลือ ประชาชนทั่วไปผู้ประสบความทุกข์ยาก ก็มิได้เป็นกิจการที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ
เงินสมทบตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ว่าด้วยเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. 2519 เป็นเงินประเภทอื่นมิใช่ค่าชดเชย การที่จำเลยกำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวว่า เงินสมทบที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นค่าชดเชย จึงไม่มีผลใช้บังคับ

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์42,540 บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า สำนักงานธนานุเคราะห์จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบความทุกข์ยาก โดยเรียกดอกเบี้ยจากผู้จำนำในอัตราต่ำกว่าของเอกชน มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานของสำนักงานธนานุเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ พ.ศ. 2517 วัตถุประสงค์ของสำนักงานธนานุเคราะห์นอกจากประกอบกิจการรับจำนำ ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืมแล้ว สถานธนานุเคราะห์ยังมีรายได้จากดอกเบี้ยที่ได้จากการรับจำนำสิ่งของจากประชาชน และรายได้จากการขายทอดตลาดของที่หลุดจำนำอีกด้วย ฐานะการเงินของสถานธนานุเคราะห์มีการจัดทำงบดุลและบัญชีแสดงกำไรขาดทุนทุกสิ้นปีงบประมาณ การดำเนินกิจการดังกล่าว เห็นได้ว่ามีลักษณะอย่างเดียวกับการดำเนินกิจการค้าโดยทั่วไป และที่ว่ากระทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราต่ำนั้นใช่ว่าจะมิได้มุ่งหวังผลกำไรโดยเด็ดขาด หรือเป็นกิจการที่ให้เปล่าดังเช่นกิจการมูลนิธิหรือกิจการสาธารณกุศลก็หาไม่ การสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนทั่วไปผู้ประสบความทุกข์ยากเป็นนโยบายของรัฐเป็นเรื่องต้องคำนึงอยู่แล้ว หาใช่ว่าจำเลยเป็นกิจการที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจดังจำเลยอ้างไม่ ดังนั้นการจ้างงานของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่มิต้องอยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน

จำเลยอุทธรณ์ว่า การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เพราะเป็นการจ้างจนกว่าโจทก์จะมีอายุครบ 60 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยนั้น ข้ออุทธรณ์เช่นนี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วหลายคดีว่า การสั่งให้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุมิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิได้ตกลงกันว่าจะจ้างกันจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน อันเป็นเหตุยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1015-1016/2524 ระหว่างนายภิรมย์ สำราญ กับพวก โจทก์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลย

จำเลยอุทธรณ์ว่า เงินสมทบที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ถือว่าเป็นค่าชดเชยและมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีกนั้น พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบสำนักงานธนานุเคราะห์ว่าด้วยเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. 2519 ข้อ 12 ได้กำหนดผู้มีสิทธิได้รับเงินสมทบไว้ นอกจากผู้ถูกเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว ยังได้รวมถึงผู้ที่ลาออกโดยมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี และในกรณีเกษียณอายุจะต้องมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งแตกต่างไปจากค่าชดเชยที่เพียงมีอายุการทำงานติดต่อกันครบ 120 วันก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้ว หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสมทบตามข้อบังคับดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์แตกต่างไปจากค่าชดเชย เงินสมทบจึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่ค่าชดเชย ดังนี้ ถึงหากจำเลยจะได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลยให้ถือว่าเงินสมทบที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นค่าชดเชย ก็หามีผลบังคับทำให้จำเลยมิต้องจ่ายค่าชดเชยไม่”

พิพากษายืน

Share