คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4645/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงแต่ปรับบทกฎหมายที่ลงโทษจำเลยโดยระบุวรรคให้ถูกต้อง แต่ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ที่จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยตามสมควรศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยอันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ และที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดโทษซึ่งล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 80จำเลยไม่ได้ให้การถือว่าปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ3 ปี รวม 9 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 แต่ศาลชั้นต้นมิได้ระบุวรรคสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปีคงลงโทษจำคุก 3 ปี โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่จะปรับว่าคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาความผิดเป็นรายกระทงไป คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก รวม3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี ดังนี้ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ปรับบทกฎหมายที่ลงโทษจำเลยให้ถูกต้องและให้จำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่จำเลยฎีกาว่าบาดแผลที่อวัยวะเพศของเด็กหญิงสุนีย์ คิดอยู่ ผู้เสียหายมิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลย คำเบิกความของเด็กหญิงสุนีย์ผู้เสียหายที่ว่า จำเลยกระทำผิดนั้นกลับไปกลับมา ไม่อาจรับฟังได้เอกสารหมาย จ.3, จ.4 และ จ.5 ที่โจทก์อ้างส่งศาล ผู้เสียหายก็มิได้เบิกความรับรองจึงไม่อาจนำมาประกอบเป็นหลักฐานยืนยันว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยสอดคล้องต้องกัน ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหากคดีมีข้อสงสัยตามสมควรศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง นั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยล้วนแต่เป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ทั้งสิ้นจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีนี้สมควรพิพากษาลงโทษจำเลยสถานหนักเพื่อให้จำเลยรู้สึกหลาบจำ ไม่คิดจะกระทำความผิดอีก ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอีกเช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์และจำเลย

Share