คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8304/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อขายเหล็กจากบริษัท ร. โจทก์จึงเป็นเจ้าของเหล็กเมื่อ ส. ได้แสดงตนว่าเป็นพนักงานของจำเลยและไปรับเหล็กดังกล่าวซึ่งโจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งแล้วแต่ไม่นำเหล็กไปส่งให้โจทก์ตามที่ได้ว่าจ้างกันไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
ส. เป็นพนักงานขับรถยนต์บรรทุกเหล็กซึ่งเป็นรถที่แล่นร่วมกับบริษัทจำเลยกระทำการยักยอกเหล็กของโจทก์ไป จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยขนส่งเหล็กน้ำหนัก 29,611 กิโลกรัม จากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด ไปที่ภูมิลำเนาของโจทก์ที่จังหวัดลำปาง ในอัตราค่าจ้างกิโลกรัมละ 35 สตางค์ จำเลยได้มอบหมายให้นายสุชาติขับรถยนต์บรรทุกมารับเหล็กจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด แล้ว แต่นายสุชาติมิได้นำเหล็กไปส่งมอบให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ราคาเหล็กจำนวน 455,618 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,349 บาท และค่าขาดประโยชน์จากกำไรที่โจทก์จะได้จากการขายเหล็กจำนวน 22,780 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 455,618 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเหล็ก จำเลยไม่ได้รับจ้างขนเหล็กให้โจทก์และจำเลยมิได้มอบหมายให้นายสุชาติไปบรรทุกเหล็ก หากจำเลยต้องรับผิดก็มีจำนวนไม่เกินปริมาณน้ำหนักเหล็กตามที่กฎหมายอนุญาตให้บรรทุกคือ 13,000 กิโลกรัม และราคาก็ไม่เกิน 150,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 470,618 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 455,618 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 12 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้องต้องไม่เกิน 18,349 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 455,618 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 12 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันฟ้องต้องไม่เกิน 18,349 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยขนส่งเหล็กจำนวน 29,611 กิโลกรัม เป็นราคาเหล็กทั้งหมด 455,618 บาท โดยคิดค่าจ้างในอัตรากิโลกรัมละ 35 สตางค์ จำเลยตกลงรับจ้างขนส่งเหล็กให้โจทก์โดยมอบให้นายสุชาติขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-3277 เพชรบุรี ไปรับเหล็กและได้มีการขนเหล็กจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด ไปแล้ว แต่นายสุชาติไม่นำเหล็กจำนวนดังกล่าวไปส่งให้โจทก์ที่จังหวัดลำปาง โจทก์ติดตามทวงถามให้จำเลยรับผิดแต่จำเลยเพิกเฉย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของเหล็กและเป็นผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยอ้างว่า เหล็กจำนวนดังกล่าวที่ขนส่งไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด ตามหลักฐานใบรับฝากสินค้าเอกสารหมาย จ.4 ข้อเท็จจริงได้ความจากคำพยานนายสุชาติหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ว่า โจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าเหล็กจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด มาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี แล้ว สำหรับบริษัทจำเลยนั้นได้ติดต่อให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งเหล็กจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดลำปางมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ปรากฏหลักฐานตามใบเสร็จรับเงิน ใบเก็บเงินและใบเซ็นรับรองของปลายทางของบริษัทจำเลยรวม 35 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.3 ส่วนในคดีนี้ก็เช่นเดียวกัน โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยขนส่งเหล็กจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ซึ่งจำเลยตกลงรับขนโดยมอบให้นายสุชาติขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-3277 เพชรบุรี ไปรับเหล็กนายสุชาติได้ไปรับเหล็กจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด ครบจำนวนแล้วแต่ไม่นำเหล็กไปส่งมอบให้โจทก์ นอกจากคำพยานนายสุชาติแล้ว พยานโจทก์มีนางสาวขนิษฐาซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด เป็นพนักงานฝ่ายรับรถเข้ามาขึ้นเหล็กและปล่อยรถออกรวมทั้งตรวจสินค้าเบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 มีรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-3277 เพชรบุรี แล่นมาที่บริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด สอบถามแล้วคนขับรถชื่อนายสุชาติแจ้งว่ามาจากบริษัทอภิสิทธิ์ขนส่ง จำกัด จะมาขึ้นเหล็กของห้างหุ้นส่วนจำกัดก้าวรวมช่างซึ่งซื้อจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด นายสุชาติแจ้งว่ารถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวบรรทุกได้ 30 ตัน เมื่อสอบถามถึงใบอนุญาตขับขี่ และบัตรประจำตัวประชาชนจากคนขับรถแล้วได้รับแจ้งว่าไม่มี มีแต่ใบสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ ได้มอบใบสั่งให้ตรวจดูปรากฏว่าชื่อนายสุชาติเป็นคนขับรถ ได้นำใบสั่งไปให้ฝ่ายขายตรวจสอบว่าเป็นคนขับรถจากบริษัทอภิสิทธิ์ขนส่ง จำกัด หรือไม่ ฝ่ายขายแจ้งว่าใช่และให้ขึ้นของได้ จึงมีการนำเหล็กขึ้นรถยนต์บรรทุกไปจำนวน 29 ตันเศษ พยานเป็นผู้ตรวจสอบสินค้าด้วยตนเองทั้งได้ทำหลักฐานไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 รวม 6 แผ่น นายสุชาติได้ลงชื่อในช่องผู้รับฝากและในช่องพนักงานขับรถ กับเขียนหมายเลขทะเบียนรถในช่องทะเบียนรถในเอกสารหมาย จ.4 ด้วย ก่อนรถจะออกจากประตูของบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด ไป ยามได้เข้าทำการตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถก่อน เมื่อเห็นว่าถูกต้องจึงได้ปล่อยรถออกไป ทั้งได้ยืนยันว่า ตามปกติแล้วการซื้อขายสินค้าจะออกเป็นใบรับฝากสินค้าตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อพิจารณาคำพยานนายสุชาติหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์คำพยานนางสาวขนิษฐาประกอบใบรับฝากสินค้าตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว เห็นว่า ในเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุเลขที่ใบสั่งของลูกค้า เลขที่ใบสั่งขายของบริษัท และมีรายละเอียดจำนวนสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดเวลาชำระเงิน อันเป็นปกติวิสัยในการซื้อขายสินค้าของผู้ดำเนินธุรกิจในทางการค้าจะดำเนินการ หาจำต้องทำเป็นสัญญาซื้อขายตามที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ดังนั้น เอกสารหมาย จ.4 ย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ทำการซื้อขายเหล็กจำนวนดังกล่าวจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของเหล็ก เมื่อนายสุชาติได้แสดงตนว่าเป็นพนักงานของจำเลยและได้ไปรับเหล็กดังกล่าวแล้วแต่ไม่นำเหล็กไปส่งให้โจทก์ตามที่ได้ว่าจ้างกันไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
ปัญหาประการต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น จำเลยอ้างว่าปกติการบรรทุกสินค้าบริษัทที่รถยนต์บรรทุกจะไปบรรทุกสินค้านั้นจะต้องตรวจสอบผู้ที่มาบรรทุกเพื่อป้องกันการทุจริตและพวกมิจฉาชีพ ต้องขอดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือใบอนุญาตขับขี่และทะเบียนรถที่มารับขนสินค้า แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ได้มีการตรวจสอบเอกสารแต่ประการใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ แต่พยานโจทก์ปากนางสาวขนิษฐายืนยันว่าได้ตรวจสอบคนขับรถแล้วชื่อนายสุชาติโดยนำหลักฐานใบสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจแสดงให้ดู เมื่อฝ่ายขายโทรศัพท์ไปสอบถามว่าเป็นคนขับรถจากบริษัทอภิสิทธิ์ขนส่ง จำกัด จำเลยหรือไม่ ฝ่ายขายได้รับแจ้งว่าใช่ เมื่อตรวจดูทะเบียนพบว่าถูกต้องจึงให้ขนเหล็กทั้งหมดขึ้นรถบรรทุก ทั้งให้นายสุชาติลงลายมือชื่อในช่องผู้รับฝากและในช่องพนักงานขับรถในเอกสารหมาย จ.4 ส่วนนายสุชาติหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ยืนยันว่าเมื่อนายสุชาติรับเหล็กจากบริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด ไปแล้วไม่ได้นำเหล็กจำนวนดังกล่าวไปส่งให้โจทก์ที่จังหวัดลำปาง จึงได้ติดต่อไปยังบริษัทจำเลย บริษัทจำเลยแจ้งว่านายสุชาติได้ยักยอกเหล็กที่รับขนไปทั้งนี้บริษัทจำเลยได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางโพงพางตามรายละเอียดในเอกสารหมาย จ.5 พันตำรวจโทพเยาว์ผู้รับแจ้งความเบิกความในวันที่ 2 กรกฎาคม ท 2543 นายอภิสิทธิ์กรรมการบริษัทอภิสิทธิ์ขนส่ง จำกัด มาแจ้งว่านายสุชาติได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-3277 เพชรบุรี ซึ่งเป็นรถที่แล่นร่วมกับบริษัทไปบรรทุกเหล็กของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก้าวรวมช่างที่บริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด เพื่อนำไปให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก้าวรวมช่างที่จังหวัดลำปาง แต่หลังจากที่นายสุชาติได้ขับรถไปบรรทุกเหล็กเรียบร้อยแล้วได้นำเหล็กไปขายเป็นการส่วนตัว ไม่ได้นำไปมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก้าวรวมช่างจึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 จากบันทึกประจำวันเอกสารหมาย จ.5 ประกอบคำพยานพันตำรวจโทพเยาว์ยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์เป็นกรรมการของบริษัทอภิสิทธิ์ขนส่ง จำกัด แจ้งว่านายสุชาติเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-3277 เพชรบุรี ซึ่งเป็นรถที่แล่นร่วมกับบริษัท ทั้งได้ไปบรรทุกเหล็กของห้างหุ้นส่วนจำกัดก้าวรวมช่างที่บริษัทรัชดาวัสดุก่อสร้าง จำกัด ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้ว่า นายสุชาติเป็นพนักงานขับรถยนต์บรรทุกหมายเลข 70-3277 เพชรบุรี ซึ่งเป็นรถที่แล่นร่วมกับบริษัทจำเลยกระทำการยักยอกเหล็กของโจทก์ไป จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ สำหรับประเด็นที่จำเลยฎีกาว่ากรมการขนส่งทางบกกำหนดให้รถยนต์บรรทุกคันหนึ่งบรรทุกได้ไม่เกิน 13 ตัน เมื่อรวมกับน้ำหนักรถแล้วไม่เกิน 21 ตัน แต่รถยนต์บรรทุกเหล็กคันเกิดเหตุกลับบรรทุกสินค้าถึง 29 ตัน เกินกำหนดที่กฎหมายอนุญาตจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า การที่รถยนต์บรรทุกทำการบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ขับรถยนต์บรรทุกหรือผู้ประกอบการ หาใช่ข้อที่จะอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ว่าจ้างให้ขนส่งสินค้าไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นนี้ให้

Share