คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9339/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว แต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ย่อมเป็นผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้รายนี้จากลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้หนี้ที่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ระงับไปเพียงแต่เจ้าหนี้หมดสิทธิเรียกร้องเอาหนี้ดังกล่าวจากลูกหนี้เท่านั้น เมื่อหนี้ยังไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ และหนี้จำนองก็ยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ผู้จำนองยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเช่นกัน ดังนั้น จำเลยทั้งสองซึ่งได้ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองไว้แก่โจทก์ จึงยังคงต้องผูกพันรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองต่อไป โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2536 นายบุญลือทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 750,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี สัญญาจะผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 เดือน นับแต่วันทำสัญญา และได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ วงเงิน 800,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับจำนวนที่เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน ทุกเดือนในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หากผิดนัดไม่ส่งดอกเบี้ยยินยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้ากับต้นเงินทันที และให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร นอกจากนี้นายบุญลือยังได้เข้าทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ ตกลงจะนำตั๋วเงินมาขายลดให้แก่โจทก์เป็นคราว ๆ โดยมีข้อสัญญาให้โจทก์คิดส่วนลดเป็นดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หากโจทก์ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุในตั๋วเงิน ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นายบุญลือยินยอมชำระเงินจำนวนนั้นแก่โจทก์จนครบ เพื่อเป็นหลักประกันหนี้สินทุกชนิดของนายบุญลือที่มีกับโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์ ยินยอมรับผิดร่วมกับนายบุญลือต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78005 พร้อมสิงปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ วงเงินจำนอง 750,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 180379 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ วงเงินจำนอง 1,100,000 บาท โดยมีข้อตกลงด้วยว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยินยอมให้โจทก์บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จนครบปรากฏว่านับแต่นายบุญลือได้รับเงินกู้ตามสัญญากู้เงินไปจากโจทก์แล้ว นายบุญลือชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายให้โจทก์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 21,059.40 บาท หลังจากนั้นไม่ชำระหนี้อีกเลย คงเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์จำนวน 688,000 บาท และดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 จนถึงวันฟ้องจำนวน 391,977.23 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีแล้ว นายบุญลือได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา โดยไม่มีกำหนดเวลาจนกระทั่งนายบุญลือถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2540 โจทก์จึงได้หยุดคิดดอกเบี้ยทบต้น ปรากฏว่านายบุญลือมีภาระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคงค้างชำระต้นเงินจำนวน 985,544.32 บาท และดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 381,248.36 บาท สำหรับหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน ปรากฏว่านายบุญลือได้นำเช็คมาขายลดให้แก่โจทก์ 6 ฉบับ เมื่อถึงกำหนดวันสั่งจ่ายโจทก์ได้นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินแล้ว ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งนายบุญลือจะต้องรับผิดชำระตามเช็คทั้ง 6 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 299,400 บาท และดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 116,558.22 บาท เมื่อนายบุญลือลูกหนี้ชั้นต้นถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองจึงต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ดังกล่าวของนายบุญลือ ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,862,728.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,972,944.32 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ ถ้าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายบุญลือได้ชำระต้นเงินตามสัญญากู้เงินคืนให้แก่โจทก์มากกว่าที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมา ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนายบุญลือไม่เคยออกเช็คสั่งจ่ายเบิกถอนเงินจากบัญชีและไม่มีหนี้ค้างชำระ สำหรับหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน เช็คบางฉบับนายบุญลือไม่ได้นำไปขายลดให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับชำระหนี้จากผู้สั่งจ่ายเช็คไปแล้ว จึงไม่มีหนี้ที่นายบุญลือต้องชำระแก่โจทก์อีก โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี การคำนวณยอดหนี้ของโจทก์ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองไว้คราวเดียวกันในวงเงิน 750,000 บาท หากจะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ไม่เกิน 750,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายบุญลือได้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์ไปเป็นจำนวนมากแล้ว มีหนี้เงินค้างชำระน้อยกว่า 688,000 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น เนื่องจากนายบุญลือถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2540 หนี้ต่าง ๆ ที่เกิดจากการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีหลังจากวันดังกล่าวโจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้นายบุญลือรับผิดได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวเช่นเดียวกัน สำหรับหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินโจทก์ได้รับเงินตามเช็คจากผู้สั่งจ่ายแล้ว จึงไม่มีหนี้ใด ๆ ที่นายบุญลือจะต้องรับผิดอีก และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในหนี้ทั้งสามประเภทเอาแก่นายบุญลือภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาให้นายบุญลือเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วย และจำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องซึ่งเกินกว่าวงเงินที่ค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,200,000 บาท และจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 750,000 บาท และจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 750,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 180379 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 และที่ดินโฉนดเลขที่ 78005 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งใต้) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบแต่ต้องไม่เกินกว่าวงเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด และทั้งนี้หากโจทก์ได้รับเงินที่ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย คดีหมายเลขแดงที่ ล.375/2540 ของศาลแพ่งเป็นจำนวนเงินเพียงใด ก็ให้สิทธิการได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองลดลงเพียงเท่านั้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว นางเซี้ยมมารดาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย และขอเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 โดยนางเซี้ยมผู้เข้าเป็นคู่ความแทน และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2536 นายบุญลือเข้าทำสัญญากู้เงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.6, จ.10 และ จ.11 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของนายบุญลือ จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.12 เป็นเงินจำนวน 750,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ 2 ฉบับ เป็นเงินจำนวน 1,100,000 บาท และ 100,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จดทะเบียนจำนองเป็นประกันไว้แก่โจทก์ด้วยตามเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.18 หลังจากนายบุญลือทำสัญญากับโจทก์แล้ว นายบุญลือชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินครั้งสุดท้ายให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 แล้วผิดนัดไม่ชำระต้นเงินจำนวน 688,000 บาท และดอกเบี้ย ส่วนสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโจทก์ได้หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายกับนายบุญลือเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 ในวันดังกล่าวนายบุญลือเป็นหนี้ค้างชำระต้นเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโจทก์เป็นเงินจำนวน 985,444.32 บาท สำหรับหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงิน ปรากฏว่านายบุญลือได้นำเช็ค 6 ฉบับ จำนวนเงิน 43,000 บาท, 62,300 บาท, 35,600 บาท, 46,500 บาท, 54,500 บาท และ 57,500 บาท ไปขายลดให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเช็คทั้ง 6 ฉบับ ไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ เนื่องจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คชุกฉบับ จนถึงวันฟ้องนายบุญลือเป็นหนี้ค้างชำระต้นเงินกับดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินจำนวน 1,079,977.23 บาท เป็นหนี้ค้างชำระต้นเงินกับดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 1,366,792.68 บาท และเป็นหนี้ค้างชำระต้นเงินในการขายลดตั๋วเงินกับดอกเบี้ยจำนวน 415,958.22 บาท รวมเป็นหนี้ค้างชำระโจทก์ทั้งสิ้น 2,862,728.13 บาท ต่อมานายบุญลือถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวในคดีล้มละลาย
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายบุญลือ ลูกหนี้ และต่อมาศาลได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จึงหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากนายบุญลือลูกหนี้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายบุญลือ ลูกหนี้ ได้ถูกฟ้องล้มละลายจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ย่อมเป็นผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้รายนี้จากลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้หนี้ที่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ระงับไป เพียงแต่เจ้าหนี้หมดสิทธิเรียกร้องเอาหนี้ดังกล่าวจากลูกหนี้เท่านั้น และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 หมวดที่ 5 เรื่อง ความระงับแห่งหนี้ หนี้จะระงับไปได้ก็แต่เฉพาะกรณีมีการชำระหนี้ การปลดหนี้ การหักกลบลบหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ และหนี้เกลื่อนกลืนกันเท่านั้น เมื่อหนี้ยังไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ดังนั้น ผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ และหนี้จำนองก็ยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 ผู้จำนองยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเช่นกัน ดังนั้น จำเลยทั้งสองซึ่งได้ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองไว้แก่โจทก์ จึงยังคงต้องผูกพันรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองต่อไป โจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญา
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่อาจเรียกร้องเบี้ยปรับได้ และเป็นกรณีที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า และเป็นข้อตกลงขัดต่อกฎหมายนั้นและดอกเบี้ยที่ศาลพิพากษาให้ชำระตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่าเป็นดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ฎีกาทั้งสองประการดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share