คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อนำที่พิพาทที่ถูกเวนคืนไปปลูกฉางข้าวให้เช่า แม้อ้างฉางนั้นจะมีถนนโรยหินเชื่อมถนนซึ่งสร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.เวนคืน ฯ 2472 ดังนี้หาเรียกว่าได้ทำที่พิพาทเป็นถนนขึ้นแล้วตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก.เวนคืนฯ 2472 ไม่ต้องคืนที่พิพาทให้แก่เจ้าของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดินของโจทก์โฉนดที่ ๒๑๘๙ ได้ถูกเวนคืนโดย พ.ร.ก. เพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์และสร้างคมนาคมเชื่อมจังหวัดพระนครและธนบุรีเป็นเนื้อที่ ๓ งาน ๕๖ ตารางวา โดยโจทก์ไม่ได้รับราคาสำหรับที่ดิน เพราะต้องห้ามตามตรา ๓ อนุมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าว
ที่ดินดังกล่าวทางราชการใช้ทำถนนเพียง ๓๖ ตารางวาส่วนที่เหลือประมาณ ๓ งาน ๒๑ ตารางวาคงปล่อยทิ้งเป็นที่ว่างไม่ได้จัดทำตามวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายแต่อย่างใดปรากฎตามแผนที่ท้ายฟ้อง ขอให้ศาลบังคับคืนแก่โจทก์
กระทรวงมหาดไทยตัดฟ้องว่าโฉนดเลขที่ ๒๑๘๙ รายนี้โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิเพราะศาลแพ่งได้พิพากษาให้โจทก์โอนขายให้แก่นางประทุมตามคดีแดงที่ ๑๘๔/๒๔๘๘ และปัจจุบันกรรมสิทธิตกทอดไปยังนางไพโรจน์ ปัจจุสานนท์โดยนางประทุมขายให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกคืน ที่ดินรายนี้ได้ถูกเวนคืนเพื่อตัดถนนตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ฯ ๒๔๗๒ กรรมสิทธิ์ตกเป็นของรัฐบาลและปัจจุบันก็ตกอยู่ในความครอบครองดูแลของเทศบาลนครธนบุรี โจทก์ไม่มีทางเรียกคืน
ต่อมานางไพโรจน์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างว่าที่ดินที่โจทก์ฟ้องเป็นของผู้ร้องตามคำพิพากษาฎีกาในคดีแดงที่ ๑๘๔/๒๔๘๔ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ ศาลอนุญาตให้นางไพโรจน์เข้าเป็นจำเลยร่วม
คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาครั้งหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาพิพากษาโดยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๒/๒๔๙๕ วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์เสนอขายที่ดินให้แก่พระยาราชพินิจฉัยนั้นทั้งสองฝ่ายได้รู้และได้เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้งว่าที่ดินตามโฉนดที่ ๒๑๘๙ นั้นเนื้อที่ส่วนหนึ่งได้ถูกโอนกรรมสิทธิไปเป็นของรัฐบาลแล้วโดยการเวนคืน ตามข้อกฎหมายจักต้องถือว่าในขณะที่ถูกเวนคืนนั้น โจทก์มีที่ดินอยู่ ๒ แปลงแปลงหนึ่งได้ถูกเวนคืนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของรัฐบาลแล้ว อีกแปลงโจทก์คงถือกรรมสิทธิต่อมาจนถูกศาลบังคับให้โอนขายให้แก่พระยาราชพินิจฉัยนั้นทั้งสองฝ่ายได้รู้และได้เข้าใจกันอย่างแจ่มแจ้งว่าที่ดินตามโฉนดที่ ๒๑๘๙ นั้นเนื้อที่ส่วนหนึ่งได้ถูกโอนกรรมสิทธิไปเป็นของรัฐบาลแล้วโดยการเวนคืน ตามข้อกฎหมายจักต้องถือว่าในขณะที่ถูกเวนคืนนั้น โจทก์มีที่ดินอยู่ ๒ แปลงแปลงหนึ่งได้ถูกเวนคืนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของรัฐบาลแล้ว อีกแปลงโจทก์คงถือกรรมสิทธิต่อมาจนถูกศาลบังคับให้โอนขายให้แก่พระยาราชพินิจฉัย ศาลฎีกาจึงเห็นว่า หากที่ดินที่ถูกเวนคืนไปนั้น รัฐบาลมิได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนใดตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้รัฐบาลต้องโอนคืนให้แก่ผู้ถูกเวนคืน พิพากษาให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามนัยดังกล่าวมานี้
ศาลแพ่งทำการพิจารณาใหม่ วินิจฉัยว่ารัฐบาลได้จัดทำถนนลงในที่พิพาทอันเป็นถนนบริเวณสพานแล้ว พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยคืนที่ดินภายในรูปเส้นสีเขียวตามแผนที่ท้ายฟ้อง(ที่โจทก์ฟ้องเรียกคืน) ให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าที่พิพาทภายในรูปเส้นสีเขียวตามแผนที่ท้ายฟ้องเทศบาลนครธนบุรีได้ให้บริษัทข้าวไทย ฯ เช่าไปปลูกโรงเก็บของหรือฉางข้าวขึ้นใช้ในกิจการของบริษัทข้าวไทย มีโรงกุดังปลูกเกือบเต็มเนื้อที่ แม้ด้านข้างโรงกุดังทางทิศตะวันออกมีถนนโรยหินเชื่อมกับถนนบริเวณสพาน ดังนี้แสดงให้เห็นว่าที่พิพาทภายในรูปเส้นสีเขียวหาได้ทำเป็นถนนขึ้นตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์เชื่อมจังหวัดพระนครและธนบุรี พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้นแต่อย่างใดไม่ ฝ่ายจำเลยเองก็มิได้โต้แย้งหรือนำสืบแสดงแผนที่คัดค้านแผนที่ที่โจทก์ระบุอ้างต่อศาลอย่างไร เป็นแต่กล่าวคลุม ๆ ว่าไม่ยอมรับรองแผนที่ของโจทก์ แต่ก็มิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น พิพากษายืน

Share