แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตาย ลง ผู้สืบสันดานตามความเป็นจริงของผู้เสียหายซึ่งแม้จะไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 วรรคแรก และเมื่อผู้สืบสันดานของผู้เสียหายยังเป็นผู้เยาว์ มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ก็ดำเนินคดีแทนผู้เยาว์ได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 56 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 โดยมารดาไม่ต้องขออนุญาตเป็นผู้แทนเฉพาะ คดีของผู้เยาว์ต่อศาลก่อน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335, 357, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ได้ตายลง เด็กชายบุญคำ บุญมา บุตรผู้เยาว์ของโจทก์ขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายโดยนางบัว บุญมา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ดำเนินคดีแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จำเลยที่ 2 อายุ 14 ปี ไม่ต้องรับโทษได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้จำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 3 กับขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องนั้น เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาซึ่งมิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนฟ้องได้ในเวลาก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่าคำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ฯลฯ โจทก์จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในชั้นฎีกาไม่ได้ จึงไม่อนุญาตให้ยกคำร้อง ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ว่า เด็กชายบุญคำ บุญมาเป็นบุตรโจทก์ซึ่งเกิดแต่นางบัว โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน เป็นบุตรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ไม่มีอำนาจเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ผู้ตายได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา29 วรรคแรก บัญญัติว่า เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลงบุพการี ผู้สืบสันดาน ฯลฯ จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานดังกล่าว หมายถึง ผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง เด็กชายบุญคำ บุญมา แม้จะไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ แต่ก็เป็นผู้สืบสันดานตามความเป็นจริงของโจทก์ จึงมีสิทธิดำเนินคดีต่างโจทก์ผู้ตายต่อไปได้ เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 1384/2516 (ประชุมใหญ่) ระหว่าง นายหมุน นิยมญาติในฐานะบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมนางสาวลออ นิยมญาติ ผู้เยาว์ตาย โจทก์นายเจริญ ช่วยนุกูล จำเลย ส่วนฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ว่านางบัว บุญมา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายบุญคำ บุญมา เข้ามาดำเนินคดีแทนเด็กชายบุญคำโดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตเป็นผู้แทนเฉพาะคดีของผู้เยาว์ต่อศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เด็กชายบุญคำ บุญมา โดยนางบัว บุญมา ผู้แทนโดยชอบธรรม เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้เด็กชายบุญคำผู้เยาว์ เป็นผู้มีมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมตามกฎหมายอยู่แล้วนางบัวมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจจัดการแทนเด็กชายบุญคำได้ตมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3ทั้งสองข้อฟังไม่ขึ้น… เมื่อโจทก์ไม่ติดใจเอาความกับจำเลยที่ 1ที่ 3 แล้ว ก็สมควรลงโทษในสถานเบาตามที่โจทก์ขอ และที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 มาโดยไม่ได้ระบุวรรคใดนั้นเห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1ที่ 3 คนละ 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.