คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2797/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตราสารค้ำประกันตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 ข้อ 17บัญญัติว่า “(ก)สำหรับกรณีมิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท (ข) สำหรับจำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท (ค) สำหรับจำนวนเงินเกิน 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ 5 บาท (ง) สำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาท ขึ้นไป ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท”
สำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้นั้น หมายถึงกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแทนลูกหนี้ คือลูกหนี้รับผิดอย่างไรผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดแทนอย่างนั้น นั่นเอง กล่าวคือเมื่อผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแทนลูกหนี้โดยมิได้ จำกัดจำนวนเงินไว้ก็ไม่ต้องพิสูจน์หนี้ของผู้ค้ำประกันต่อไป โดยถือว่าหนี้ของผู้ค้ำประกันมีเท่ากับหนี้ของลูกหนี้จึงให้เสีย ค่าอากรแสตมป์เพียง 1 บาท แต่กรณีที่จำกัดจำนวนเงินที่ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแทนลูกหนี้ไม่ถึงหนี้ของลูกหนี้ ก็ย่อม จำเป็นที่จะต้องพิสูจน์หนี้ของผู้ค้ำประกันต่อไป เป็นการพิสูจน์ หนี้ทั้งของลูกหนี้และของผู้ค้ำประกัน เป็นการเพิ่มความยุ่งยาก ขึ้นอีก จึงให้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มขึ้นตามจำนวนหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในข้อ (ข)(ค)และ(ง)
หนังสือสัญญาค้ำประกันตามฟ้องมีใจความว่า การที่ผู้เช่าซื้อได้ทำสัญญาเช่าซื้อไว้นั้น ถ้าผู้เช่าซื้อจะต้อง รับผิดชอบชดใช้เงินตามสัญญาดังกล่าวแก่บริษัทก็ดี จะต้อง รับผิดชดใช้เงินในความเสียหายใด ๆ แก่บริษัทก็ดี ข้าพเจ้า(จำเลย) ยอมค้ำประกันและรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการ จึงเป็นกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ คือลูกหนี้รับผิดอย่างไรผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดแทน (ร่วมกัน) ลูกหนี้อย่างนั้น ดังบัญญัติไว้ใน ข้อ (ก) หนังสือสัญญาค้ำประกัน ดังกล่าวซึ่งปิดอากรแสตมป์ 1 บาท จึงเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร และใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม กฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านายมนัส จี๋เจริญ เช่าซื้อโทรทัศน์ไปจากโจทก์เป็นเงิน8,280 บาท สัญญาจะชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นงวด งวดละ 460 บาทจำเลยทำสัญญาค้ำประกันไม่จำกัดความรับผิดโดยสัญญา ถ้านายมนัสไม่ชำระหนี้ตามสัญญาจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์ ต่อมานายมนัสผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องร่วมรับผิดกับนายมนัส ขอให้บังคับให้จำเลยส่งมอบโทรทัศน์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ถ้าคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา 6,000 บาท กับค่าเสียหาย 2,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าซื้อมีข้อความกำหนดอัตราค่าเช่าซื้อแน่นอนแล้ว หากจำเลยจะต้องรับผิดมากกว่าจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลัง สัญญาค้ำประกันตามฟ้องต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรไม่ต่ำกว่า 5 บาท หรือ 10 บาท เมื่อโจทก์ปิดอากรแสตมป์เพียง 1 บาทไม่ครบถ้วน ใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่าให้จำเลยส่งมอบเครื่องรับโทรทัศน์ตามฟ้องแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย ถ้าคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้เงิน 6,000 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 2,700 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตราสารค้ำประกันตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อันดับ 17 บัญญัติว่า “(ก) สำหรับกรณีมิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท (ข) สำหรับจำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท (ค) สำหรับจำนวนเงินเกิน 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ 5 บาท (ง) สำหรับจำนวนเงินเกิน 10,000 บาทขึ้นไป ค่าอากรแสตมป์ 10 บาท” หนังสือสัญญาค้ำประกันตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหรือตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ปิดอากรแสตมป์เพียง 1 บาทนั้น ชอบด้วยบัญชีอากรแสตมป์ข้อ (ก) ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ เห็นว่า คำว่า “สำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้” นั้น หมายถึงกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแทนลูกหนี้ คือลูกหนี้รับผิดอย่างไรผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดแทนอย่างนั้นนั่นเอง ซึ่งพอจะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ กล่าวคือเมื่อผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแทนลูกหนี้โดยมิได้จำกัดจำนนเงินไว้ก็ไม่ต้องพิสูจน์หนี้ของผู้ค้ำประกันต่อไป โดยถือว่าหนี้ของผู้ค้ำประกันมีเท่ากับหนี้ของลูกหนี้ จึงให้เสียค่าอากรแสตมป์เพียง 1 บาท แต่กรณีที่จำกัดจำนวนเงินที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดแทนลูกหนี้ไม่ถึงหนี้ของลูกหนี้ ก็ย่อมจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์หนี้ของผู้ค้ำประกันต่อไปเป็นการพิสูจน์หนี้ทั้งของลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นการเพิ่มความยุ่งยากขึ้นอีก จึงให้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มขึ้นตามจำนวนหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในข้อ (ข) (ค) และ (ง) ดังกล่าวข้างต้น สำหรับสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าวข้อ 1 มีว่า “การที่ผู้เช่าซื้อ นายมนัส จี๋เจริญ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อเลขที่ 11704 ลงวันที่ 20 มกราคม 2520 นั้น ถ้าผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินตามสัญญาดังกล่าวแก่บริษัทก็ดีจะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินในความเสียหายใด ๆ แก่บริษัทก็ดี ข้าพเจ้า (จำเลย) ยอมค้ำประกันและรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการ” เห็นว่าการที่หนังสือสัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า จำเลยยอมรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการ จึงเป็นกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ คือลูกหนี้รับผิดอย่างไร ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดแทน (ร่วมกัน) ลูกหนี้อย่างนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในข้อ (ก) ดังกล่าวข้างต้น หนังสือสัญญาค้ำประกันตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหรือตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งปิดอากรแสตมป์ 1 บาท จึงเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร และใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตามกฎหมายแล้ว จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

พิพากษายืน

Share