แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินไว้กับโจทก์ โดยกำหนดวันโอนไว้แน่นอนแล้ว แต่ก่อนถึงกำหนดวันโอน จำเลยกลับเอาที่ดินไปขายแก่ผู้อื่นเสีย ดังนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการผิดสัญญา โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาก่อนกำหนดได้ โดยจำเลยจะยกเงื่อนเวลามาเป็นประโยชน์แก่จำเลยไม่ได้
ในสัญญาจะซื้อขายที่ดินระบุไว้ว่า ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญา ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าเสียหายได้ 6000 บาท ดังนี้ ไม่แปลว่าเจ้าหนี้จะเรียกได้แต่ฉะเพาะค่าเสียหายเท่านั้น เจ้าหนี้อาจเลือกฟ้องขอให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาก็ได้ตามมาตรา 380 ป.ม.แพ่ง ฯ
(อ้างฎีกาที่ 131/2489)
ย่อยาว
ความว่า จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแก่โจทก์ จำเลยได้รับเงินมัดจำไว้แล้ว ตกลงจะไปโอนทะเบียนภายในเดือนมีนาคม ๒๔๙๐ ก่อนถึงวันโอน จำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงนี้แก่นายเหลียว และในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ จำเลยกับนายเหลียวได้ไปโอนขาย ณ หอทะเบียนที่ดิน โจทก์ไปร้องคัดค้านไว้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้อง เพราะยังไม่ถึงเวลาโอน และจำเลยมิได้ผิดนัด และว่าถ้าจำเลยผิดสัญญา โจทก์ก็มีสิทธิเพียงเรียกค่าเสียหาย ๖๐๐๐ บาทตามสัญญาเท่านั้น จะฟ้องบังคับให้จำเลยโอนขายมิได้ ศาลล่างพิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินกับโฉนดให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์แน่นอนแล้วว่าจะไปโอนขายที่ดินแก่โจทก์ แต่ก่อนถึงวันโอนจำเลยกับเอาที่ดินไปโอนขายแก่ผู้อื่นเสีย จะว่าจำเลยไม่ละเมิดสัญญาอย่างไร จำเลยจะยกเงื่อนไขแห่งเวลามาเป็นประโยชน์แก่จำเลยไม่ได้
ส่วนข้อที่โจทก์ควรได้แต่ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น ปรากฎในสัญญาข้อ ๕ ว่า “ถ้าฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาแล้วยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งนำสัญญาไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแก่ฝ่ายผิดสัญญาเป็นเงิน ๖๐๐๐ บาท” ความข้อนี้ยังไม่เป็นเหตุพอที่จะถือว่า ถ้ามีการประพฤติผิดสัญญาแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกได้แต่ฉะเพาะค่าเสียหาย เพราะตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๓๘๐ บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ดังที่โจทก์ฟ้องขอบังคับในคดีนี้
พิพากษายืน.