แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 จัดบริการให้แก่ลูกค้า ซึ่งไปรับประทานอาหาร ที่ภัตตาคารของจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ต้อนรับ เอากุญแจรถยนต์ขับรถยนต์เข้าที่จอด และเคลื่อนย้ายรถยนต์หากมีรถยนต์คันอื่นเข้าออกในบริเวณภัตตาคาร ออกใบรับที่จดหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรับกุญแจรถยนต์ของโจทก์เก็บไว้ถือได้ว่าเป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ซึ่งจำเลยที่ 1ผู้รับฝากจะต้องดูแลระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่ฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตนเอง เมื่อรถยนต์ โจทก์ที่นำมาฝากเพื่อรับประทานอาหารในภัตตาคารของ จำเลยที่ 1 หายไป โดยจำเลยที่ 1 มิได้ดูแลหรือใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตน จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1รับฝากทรัพย์หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยโดยเห็นด้วยในประเด็นเรื่องฝากทรัพย์แล้ว การที่วินิจฉัยต่อไป ว่าเป็นการฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ ก็ยังอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น โจทก์ใช้รถยนต์ประกอบการค้า เมื่อรถยนต์หายไปโจทก์ ไม่มีรถยนต์ที่จะใช้ประกอบอาชีพได้ย่อมได้รับความเสียหาย มีสิทธิได้รับค่าเสียหายส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์นั่งกระบะสองแถวยี่ห้ออีซูซุ สีแดง หมายเลขทะเบียน 2ร-7403 กรุงเทพมหานครโดยเช่าซื้อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี จำกัดในราคา 187,668 บาท ติดตั้งวิทยุและทำหลังคาเป็นเงิน10,000 บาท รวมเป็นราคารถ 197,668 บาท โจทก์กับพวกได้ไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารเจ.อาร์.คาเฟ่ ของจำเลยที่ 1โดยได้ขับขี่รถยนต์ดังกล่าวไปจอดที่ร้านอาหารของจำเลยที่ 1มีจำเลยที่ 2 ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ช่วยจัดการจอดรถยนต์เก็บกุญแจรถยนต์และได้ออกใบรับฝากรถยนต์ให้โจทก์ไว้เมื่อโจทก์กับพวกรับประทานอาหารเสร็จ โจทก์กับพวกจะเอารถยนต์กลับบ้านปรากฏว่ารถยนต์ของโจทก์ได้หายไป จำเลยที่ 2ผู้มีหน้าที่รับฝากดูแลรถยนต์ของลูกค้า ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างมิได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรถยนต์ของลูกค้าให้เพียงพอ ทำให้รถยนต์หายไปดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคารถยนต์พร้อมอุปกรณ์จำนวน197,668 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์วันละ 200 บาทเป็นเวลา 100 วัน เป็นเงิน 20,000 บาท รวมเป็นเงิน217,668 บาท ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้น 217,668 บาท นับแต่ทวงถามถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 เดือน เป็นเงิน 2,720 บาท รวมเป็นเงิน 220,388 บาทแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 217,668 บาท นับถัดจากวันฟ้องที่จนกว่าจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะฝากทรัพย์ไม่มีบทบัญญัติให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างได้กระทำความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ต้อนรับลูกค้าในภัตตาคาร เจ.อาร์.คาเฟ่ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่พนักงานขับรถยนต์หรือพนักงานรับรถยนต์แต่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกจัดที่จอดรถยนต์ให้แก่ลูกค้าหากลูกค้ายินยอมก็ช่วยจอดรถยนต์ให้ ลูกค้าจะมอบกุญแจรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ได้ หากลูกค้ามอบกุญแจรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ก็เป็นความสะดวกในการที่จะเคลื่อนย้ายรถยนต์มิให้กีดขวางในการเข้าออกของรถยนต์คันอื่น การที่จำเลยที่ 2 ออกใบรับกุญแจที่กรอกหมายเลขทะเบียนรถยนต์มอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าก็เพื่อจะคืนกุญแจรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ถูกต้องเท่านั้นไม่ใช่เป็นการรับฝากรถยนต์และมิได้เก็บค่าบริการจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ของโจทก์ไปจอดไว้ในบริเวณหน้าภัตตาคารเมื่อจอดแล้วจำเลยที่ 2 ได้ปิดล็อกประตูรถยนต์ไว้เป็นการใช้ความระมัดระวังในการเก็บรถยนต์เช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เอง การที่รถยนต์ของโจทก์ถูกคนร้ายลักไปมิใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน140,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของภัตตาคารชื่อเจ.อาร์.คาเฟ่ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้อนรับลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2530เวลาประมาณ 20 นาฬิกา โจทก์กับพวกได้ไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคาร เจ.อาร์.คาเฟ่ ของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้นำรถยนต์กระบะสีแดง ยี่ห้อ อีซูซุ คันหมายเลขทะเบียน 2ร-7403 กรุงเทพมหานคร ไปจอดที่บริเวณภัตตาคารของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนำรถยนต์ไปจอด เคลื่อนย้ายรถยนต์เพื่อความสะดวกของรถยนต์ที่จะแล่นเข้าออกในบริเวณภัตตาคาร เก็บกุญแจรถยนต์ของโจทก์ไว้ และออกใบรับที่จดหมายเลขทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ ต่อมาโจทก์รับประทานอาหารเสร็จได้มาขอรับรถยนต์คืน ปรากฏว่ารถยนต์ของโจทก์ได้หายไปมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการรับฝากทรัพย์หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 จัดบริการให้แก่ลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ซึ่งไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคารของจำเลยที่ 1โดยให้จำเลยที่ 2 ต้อนรับเอากุญแจรถยนต์ ขับรถยนต์เข้าที่จอดและเคลื่อนย้ายรถยนต์หากมีรถยนต์คันอื่นเข้าออกในบริเวณภัตตาคารของจำเลยที่ 1 ออกใบรับที่จดหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรับกุญแจรถยนต์ของโจทก์เก็บไว้ การที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดความมั่นใจแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1ที่มารับประทานอาหารว่ารถยนต์ของตนจะได้รับการดูแลให้ปลอดภัยตามพฤติการณ์ถือได้แล้วว่าเป็นการฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ซึ่งจำเลยที่ 1ผู้รับฝากจะต้องดูแลระมัดระวังสงวนทรัพย์สินที่ฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตนเองที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าทำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้านั้นฟังไม่ขึ้นสำหรับข้อที่ว่าจำเลยที่ 1ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอหรือไม่นั้น ข้อนี้คงมีจำเลยที่ 2เบิกความลอย ๆ แต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้ล็อกประตูรถยนต์ทั้งสี่ด้านเปิดออกไม่ได้และรถยนต์จอดอยู่ห่างหน้าภัตตาคารประมาณ 25 เมตร มีแสงไฟฟ้าส่องสว่างสามารถมองเห็นได้เท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ เช่นนี้ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ดูแลหรือใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นที่เคยประพฤติในกิจการของตนแต่อย่างใด เมื่อรถยนต์โจทก์หายไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 รับฝากทรัพย์หรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่าเป็นการฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยเห็นด้วยในประเด็นเรื่องฝากทรัพย์แล้ว เพียงแต่วินิจฉัยต่อไปว่าเป็นการฝากทรัพย์โดยบำเหน็จซึ่งก็ยังอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่จำเลยที่ 1 เข้าใจกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงไม่เสียไป
สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่ารถยนต์ของโจทก์ขณะที่ซื้อใหม่ราคาประมาณ 100,000 บาทโจทก์ได้ใช้อยู่เป็นเวลา 1 ปี ราคาย่อมลดลง ค่าเสียหายในส่วนนี้จึงไม่ควรเกินกว่า 60,000 – 70,000 บาท นั้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าตามฟ้องโจทก์ได้คิดราคารถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ที่ติดตั้งในรถยนต์ เป็นราคารวมทั้งสิ้น 197,668 บาทศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนที่เป็นราคารถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์จำนวน 120,000 บาท นับว่าเป็นราคาที่สมควรส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้ประกอบอาชีพเป็นค่าขาดประโยชน์นั้น เมื่อฟังว่า โจทก์ได้ใช้รถยนต์ประกอบการค้าขนมจีน โจทก์ไม่มีรถยนต์ที่จะใช้ประกอบอาชีพได้ ย่อมได้รับความเสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน 20,000 บาทนับว่าเหมาะสมแก่รูปคดี ไม่สมควรเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองเป็นอย่างอื่น”
พิพากษายืน