คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทจากการรถไฟ แล้วให้จำเลยเช่าช่วง แม้ขณะที่ศาลชั้นต้นพิพากษาสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับผู้ให้เช่าสิ้นอายุแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยผู้เช่าช่วงอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ทำไว้กับโจทก์ โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องส่งคืนตึกแถวให้ผู้ให้เช่าเมื่อสัญญาเช่าได้ระงับลงก็ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้ส่งมอบตึกแถวพิพาทซึ่งเช่าจากโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีข้อตกลงกันว่า ตึกแถวรวม 7 ห้อง ซึ่งโจทก์สร้างลงในที่ดินดังกล่าวให้กรรมสิทธิ์เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทยยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้อาคารตึกแถวนั้น โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนมีกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2504 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2514 ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยยังให้โจทก์เช่าต่ออีก 5 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2514 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2519

จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเช่าตึกแถวเลขที่ 167/3-4 จากโจทก์มีกำหนด 9 ปี 5 เดือน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2505 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม2514 ค่าเช่าเดือนละ 300 บาท เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไป จำเลยไม่ยอมออก โจทก์ให้ทนายความบอกเลิกการเช่ากับจำเลยทั้งสองและให้ขนย้ายออกไป จำเลยทราบแล้วไม่ปฏิบัติตามทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายและค่าเช่าที่ค้าง กับให้ใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากตึกแถวของโจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ตึกแถวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองเช่าตึกแถวพิพาทจากโจทก์จริง เมื่อครบสัญญาแล้วจำเลยที่ 2 ก็ยังอยู่ในตึกแถวที่เช่าตลอดมา โจทก์ไม่เคยทวงค่าเช่า ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาของโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000บาท ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2518 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกจากตึกแถวพิพาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าที่ค้างแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะค่าเสียหายเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 3,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม2518 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2519 ส่วนการบังคับขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารคงมีผลเฉพาะเพียงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2519 (วันที่สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับการรถไฟแห่งประเทศไทยสิ้นกำหนด) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ปัญหาว่า เมื่อสัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับการรถไฟแห่งประเทศไทยสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อไปอีกหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับการรถไฟแห่งประเทศไทยมีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2514 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2519 และขณะที่ศาลชั้นต้นพิพากษา สัญญาเช่าดังกล่าวสิ้นอายุแล้วก็ตาม (ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2519) แต่เมื่อจำเลยผู้เช่าช่วงเข้าอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซึ่งทำไว้กับโจทก์ โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องส่งคืนตึกแถวให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อสัญญาเช่าได้ระงับลงก็ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้ส่งมอบตึกแถวพิพาทซึ่งเช่าจากโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในตึกแถวภายหลังสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share