คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 196 บัญญัติถึงกรณีที่ให้คดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นอันเลิกกันได้ไม่ได้บัญญัติในเรื่องเหตุบรรเทาโทษไว้เป็นพิเศษ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วยเว้นแต่ กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นศาลจึงนำเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาใช้ในกรณีแห่งความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คได้

แม้ตามฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยเรียงกระทงความผิดหรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มิได้อ้างมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาในคำขอท้ายฟ้องก็ตามเมื่อตามฟ้องของโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามบทบัญญัติมาตรา 91แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คลงวันที่ 30 ตุลาคม 2519ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2519 โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียก เก็บเงินเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ได้นำเช็คไปขึ้นเงินก่อนวันออกเช็คจึงไม่อาจ อ้างได้ว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายในวันออกเช็คการกระทำของจำเลยเกี่ยวกับเช็คดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัดสาขาสมุทรสาคร สามฉบับให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ คือหมายเลข สค.144420 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2519 จำนวนเงิน 20,000 บาท หมายเลข สค. 044381 ลงวันที่ 15 กันยายน 2519 จำนวนเงิน 20,000 บาท และหมายเลข สค.044383 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2519 จำนวนเงิน 28,858 บาท โจทก์นำเช็คสามฉบับไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่20, 1 และ 15 ตุลาคม 2519 ตามลำดับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทั้งนี้จำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ปรับ 10,000 บาทแล้วลดให้กึ่งหนึ่งเพราะจำเลยให้การรับสารภาพ

โจทก์อุทธรณ์ขอให้เรียงกระทงลงโทษ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เรียงกระทงลงโทษปรับกระทงละ10,000 บาท รวมสามกระทงปรับ 30,000 บาท แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งเพราะจำเลยให้การรับสารภาพ

โจทก์จำเลยต่างฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 บัญญัติว่า “ฯลฯ ถ้าผู้กระทำผิดตามมาตรา 3ได้นำเงินตามเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ทรงเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ให้คดีเป็นอันเลิกกันตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติในเรื่องคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คว่าเป็นคดีเลิกกันได้เมื่อผู้ออกเช็คได้นำเงินตามเช็คไปชำระแก่ผู้ทรงเช็ค หรือแก่ธนาคารเพื่อจ่ายเงินตามเช็คภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ทรงเช็คได้บอกกล่าวให้ผู้ออกเช็คได้รับทราบว่าธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติในเรื่องเหตุบรรเทาโทษไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในภาค 11 แห่งประมวลกฎหมายอาญานี้ ให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย เว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” ดังนั้น ศาลจึงนำเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาใช้ในกรณีแห่งความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คได้ ที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จึงเป็นการถูกต้องแล้ว

ในปัญหาเรื่องการเรียงกระทงลงโทษศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยเรียงกระทงความผิด หรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มิได้อ้างมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในคำขอท้ายฟ้องก็ตาม เมื่อตามฟ้องของโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามบทบัญญัติมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้

แต่สำหรับเช็คฉบับที่ 3 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวลงวันที่ 30 ตุลาคม 2519 ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2519 โจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่ายนั้น เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ได้นำเช็คไปขึ้นเงินก่อนวันออกเช็ค โจทก์จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายในวันออกเช็ค ทั้งโจทก์มิได้แนบเช็คหรือใบคืนเช็คมาท้ายฟ้องเพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเช็คฉบับดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 75/2503

พิพากษาแก้ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยเพียงสองกระทง

Share