แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยให้ เนื่องจากไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการแย่งการครอบครอง ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นเป็นข้อพิพาทไว้ คำให้การของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแต่ประการใด และไม่วินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
โจทก์บรรยายความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองมาในฟ้อง แต่มิได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเกินคำขอของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) โดยซื้อจากนางสาวสุภาพร เตชะทัตตานนท์ ต่อมาโจทก์แบ่งที่ดินให้จำเลยทั้งสอง เนื้อที่ 6 ไร่เศษ โดยจำเลยที่ 2 ได้ที่ดินในส่วนด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เนื้อที่ 1 ไร่เศษ และทำบันทึกกันไว้แล้วโจทก์ปักเสารั้วคอนกรีตไว้เป็นแนวเขต หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 บุกรุกถอนเสารั้วดังกล่าวแล้วขยับล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ เนื้อที่ 2 ไร่เศษ ซึ่งโจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ส่วนจำเลยที่ 2 บุกรุกที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ 1 ไร่เศษ เมื่อประมาณปลายปี 2541 หรือต้นปี 2542 โดยร่วมกับจำเลยที่ 1 รื้อถอนเสารั้วคอนกรีตที่โจทก์ปักไว้เป็นแนวเขตระหว่างที่ดินโจทก์กับที่ดินส่วนที่โจทก์ยกให้จำเลยทั้งสอง แล้วนำไปปักเป็นแนวเขตที่ดินของตนพร้อมปลูกกระท่อมอยู่อาศัย ต้นมะพร้าวและต้นมะม่วงกับขุดบ่อน้ำ ซึ่งโจทก์ทราบเรื่องเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2540 การทำละเมิดดังกล่าวของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงิน 31,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนเสารั้วและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาททั้งสองแปลง และให้ปักเสารั้วของโจทก์คืนสู่สภาพเดิมโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่เคยบุกรุกที่ดินโจทก์ จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทก่อนปี 2521 และแบ่งขายบางส่วนให้แก่โจทก์เมื่อปี 2529 โจทก์ไม่ได้ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาท เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ จากจำเลยที่ 1 และครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง จำเลยที่ 2 ขอออกใบจอง แต่โจทก์คัดค้านว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องและให้โจทก์ถอนคำคัดค้านการขอออกใบจองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวสุภาพรเมื่อปี 2529 และนางสาวสุภาพรขายต่อให้แก่โจทก์เมื่อปี 2532 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งการซื้อขายดังกล่าวก็ทำกันโดยไม่สุจริต และจำเลยที่ 2 เพิ่งแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อประมาณปลายปี 2541 หรือต้นปี 2542 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ทางด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินจำเลยที่ 1 เนื้อที่ 2 ไร่ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ปักเสารั้วของโจทก์ตามแนวเขตเดิมและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเนื้อที่ 2 ไร่
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 พร้อมบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับปัญหาข้อแรกที่ว่าโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่ถูกแย้งการครอบครองหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยให้ เนื่องจากไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการแย่งการครอบครอง และในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาตั้งแต่ปี 2533 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ คำให้การของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแต่ประการใดและไม่วินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ส่วนปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงนั้น เนื่องจากได้ความจากรายงานกระบวนพิจารณาว่าทนายความโจทก์และทนายความจำเลยทั้งสองแถลงร่วมกันว่าที่ดินพิพาทมีราคาประเมินเพียง 50,000 บาท และจำเลยที่ 2 ก็เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ดังกล่าว ฎีกาจำเลยที่ 2 ในปัญหาข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้เช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสองมาในฟ้อง แต่มิได้มีคำขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายมาด้วย การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนนั้น จึงเกินคำขอของโจทก์ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 กับให้ยกฎีกาจำเลยที่ 2