คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาแต่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยตกลงว่าจำเลยทั้งสองต้องผูกพันการขายน้ำมันเชื้อเพลิงต่อโจทก์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 70,000 ลิตร ถ้าขายต่ำกว่านั้นต้องเสียค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 25 สตางค์ต่อลิตร หลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองประพฤติผิดสัญญาคือสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถึงยอดรับรองที่ตกลงกันไว้ และปลายปี 2541 จำเลยทั้งสองไม่ได้สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ยังเปิดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เรื่อยมาโดยสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ค้ารายอื่นมาจำหน่ายแทน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าจำเลยทั้งสองยังประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในชั้นพิจารณาโจทก์ก็มี ธ. ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดมาเบิกความยืนยันว่า การสำรองน้ำมันของโจทก์จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละราย โดยโจทก์ต้องสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งจากในและต่างประเทศมาสำรองไว้ ดังนั้น หากจำเลยทั้งสองสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถึงยอดที่ตกลงไว้โจทก์จะได้รับความเสียหาย ฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมทำสัญญาว่าถ้าสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ต่ำกว่า 70,000 ลิตรต่อเดือน ยอมเสียค่าปรับ 25 สตางค์ต่อลิตร แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าถ้าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าฐานผิดสัญญาส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 517,058.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 292,058.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มกราคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าขายน้ำมันปิโตรเลียมโดยจำหน่ายเองและโดยการแต่งตั้งผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วประเทศภายใต้เครื่องหมายการค้า “mp” จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2539 โจทก์ทำสัญญาแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันการขายน้ำมันเชื้อเพลิงต่อโจทก์ คือต้องมียอดปริมาณการขายรายเดือนไม่ต่ำกว่าจำนวนเดือนละ 70,000 ลิตร ถ้ายอดการขายต่ำกว่าปริมาณดังกล่าวต้องเสียค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 25 สตางค์ต่อลิตร ตามสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและข้อกำหนดทั่วไปของสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการเอกสารหมาย จ. 4 และ จ. 5 ในวันดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังได้ทำสัญญายืมทรัพย์สินและอุปกรณ์กับสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามเอกสารหมาย จ. 6 และ จ. 8 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์มีปริมาณไม่ต่ำกว่าจำนวน 70,000 ลิตรต่อเดือน และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงจำเลยที่ 1 จะต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่โจทก์โดยไม่ชักช้า ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้า “mp” ของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ในปริมาณที่ต่ำกว่าจำนวน 70,000 ลิตรต่อเดือน ในวันที่ 10 สิงหาคม 2542 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 รับหนังสือแล้วก็เพิกเฉยตามหนังสือและใบตอบรับเอกสารหมาย จ. 9 และ จ. 10 ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2543 โจทก์ได้ดำเนินการยึดทรัพย์สินและอุปกรณ์ตามสัญญายืมทรัพย์สินและอุปกรณ์คืนจากจำเลยที่ 1 ตามใบรับสินค้าคืนเอกสารหมาย จ. 11 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์ควรได้รับชำระค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าวหรือไม่เพียงใด โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรในกรณีที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถึงปริมาณที่กำหนดที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางคำนวณเป็นค่าปรับจำนวน 239,000 บาท จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยเพราะเป็นค่าปรับที่สูงเกินไป เห็นว่า ในข้อนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาผูกพันกันว่าโจทก์ตกลงให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองในการดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้า “mp” ณ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเอ็มพีบรบือชัยรุ่งเรืองบนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 272 ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันเปิดดำเนินการ จำเลยทั้งสองต้องผูกพันการขายน้ำมันเชื้อเพลิงต่อโจทก์โดยต้องมียอดประมาณการขายรายเดือนประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต่ำกว่าจำนวนเดือนละ 70,000 ลิตร ถ้าขายต่ำกว่าปริมาณดังกล่าวต้องเสียค่าปรับแก่โจทก์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงิน 25 สตางค์ต่อลิตร ภายหลังจากที่โจทก์ทำสัญญาแต่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองได้ประพฤติผิดสัญญา กล่าวคือ หลังจากจำเลยทั้งสองเปิดดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จำเลยทั้งสองได้สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถึงยอดรับรองตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และในปลายปี 2541 จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่จำเลยทั้งสองยังเปิดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้เครื่องหมายการค้า “mp” ของโจทก์เรื่อยมาโดยได้สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ค้ารายอื่นมาจำหน่ายแทน การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำผิดสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายกล่าวคือ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าจำเลยทั้งสองยังประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “mp” ของโจทก์อยู่ ในชั้นพิจารณาโจทก์มีนายธนสรรค์ สีสม ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นพยานให้ถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ว่า โจทก์เป็นผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ต้องเตรียมแผนการต่าง ๆ เช่น จัดหาน้ำมันดิบจากต่างประเทศหรือคลังน้ำมันเพื่อจัดเก็บและสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงโดยการจัดซื้อจัดหาไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานาน ทั้งนี้ เพื่อให้เพียงพอกับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับการแต่งตั้งจากโจทก์ทั่วประเทศรวมทั้งสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยทั้งสองด้วย ซึ่งปริมาณการผลิต การสำรองการจัดซื้อจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสัญญาที่โจทก์ได้ทำไว้กับผู้ได้รับการแต่งตั้งแต่ละรายรวมกันว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด โดยนำยอดตามสัญญาแต่ละรายมาวางแผนการผลิต สำรอง และจัดซื้อจัดหาต่อไป ดังนั้น หากจำเลยทั้งสองสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ถึงยอดตามที่ตกลงกันไว้จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และนายธนสรรค์ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงอีกว่า เมื่อมีการทำสัญญาแต่งตั้งผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว โจทก์จะต้องสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ลูกค้านำไปจำหน่าย โดยโจทก์จะสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากภายในประเทศรวมทั้งจากต่างประเทศนำมาเก็บสำรองไว้ หากลูกค้าไม่สั่งซื้อตามปริมาณที่ตกลงไว้ในสัญญาทำให้โจทก์มีต้นทุนในการผลิต ฝ่ายจำเลยทั้งสองเองก็ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ต่ำกว่าจำนวน 70,000 ลิตรต่อเดือน และขายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ต่ำกว่าปริมาณดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมทำสัญญาว่าจะสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงรวมกันมีปริมาณไม่ต่ำกว่าจำนวน 70,000 ลิตรต่อเดือน และถ้าจำเลยที่ 1 ขายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ต่ำกว่าจำนวน 70,000 ลิตรต่อเดือน จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับแก่โจทก์สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงิน 25 สตางค์ ต่อลิตรดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 สั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์และขายน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าปริมาณดังกล่าวจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ขายน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าจำนวน 70,000 ลิตรต่อเดือน และสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโจทก์ต่ำกว่าปริมาณดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับซึ่งเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าฐานผิดสัญญาส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองได้ และเห็นว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับส่วนนี้เป็นเงิน 239,000 บาท โดยลดลงจากค่าปรับส่วนนี้ตามสัญญาจำนวน 344,000 บาท นั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองพอสมควรแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ควรได้รับค่าปรับตามสัญญาเป็นเงินวันละ 1,000 บาท ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบทรัพย์สินและอุปกรณ์คืนโจทก์ตามสัญญายืมทรัพย์สินและอุปกรณ์เอกสารหมาย จ. 6 เพราะการรื้อถอนทรัพย์สินและอุปกรณ์คืนมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 แต่เป็นความผิดของโจทก์ที่เข้ารื้อถอนทรัพย์สินและอุปกรณ์จากจำเลยที่ 1 ล่าช้านั้น เห็นว่าตามสัญญาดังกล่าวข้อ 7 กำหนดว่า “เมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลง ผู้ยืมจะต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่บริษัทเอ็มพี ณ สถานที่ที่บริษัทเอ็มพีกำหนดโดยไม่ชักช้าด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ยืมเอง ในกรณีที่บริษัทเอ็มพีเห็นว่าการดำเนินการของผู้ยืม…เนิ่นช้า ผู้ยืมยินยอมให้พนักงานของบริษัทเอ็มพีเข้าไปในสถานีบริการน้ำมันเพื่อนำทรัพย์สินที่ยืมคืนได้ในทันที…” ตามข้อสัญญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินและอุปกรณ์ที่ยืมคืนให้โจทก์โดยไม่ชักช้า แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ ไม่ดำเนินการรื้อถอนทรัพย์สินและอุปกรณ์คืนโจทก์จนเวลาล่วงเลยมานับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจนถึงวันที่โจทก์ดำเนินการรื้อถอนทรัพย์สินคืนเป็นเวลารวม 254 วัน เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แล้ว และแม้ว่าโจทก์จะเข้ารื้อถอนทรัพย์สินและอุปกรณ์ล่าช้าไปถึง 254 วันดังกล่าวอันเป็นความผิดของโจทก์ด้วยส่วนหนึ่งก็ตาม แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็วินิจฉัยว่าโจทก์ควรใช้เวลาเตรียมการรื้อถอนเพียง 30 วัน จึงคิดค่าปรับในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบทรัพย์สินและอุปกรณ์คืนโจทก์วันละ 1,000 บาท ตามสัญญายืมทรัพย์สินและอุปกรณ์เอกสารหมาย จ. 6 โดยกำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับส่วนนี้เป็นเงิน 30,000 บาท ลดลงจากค่าปรับที่โจทก์เรียกร้องมาในส่วนนี้จำนวน 150,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมและพอสมควรแล้วเช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share