คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3556/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย แต่ไม่มีทรัพย์ใดที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
นอกจากจะเป็นหนี้โจทก์แล้ว จำเลยยังมีหนี้สินอื่นอีก โดยที่จำเลยมีเพียงเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ส่วนทรัพย์สินอื่นไม่มีพอที่จะชำระหนี้ จึงสมควรให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น โดยจำเลยยอมจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยผิดนัด โดยนำเงินมาวางต่อศาลเพื่อให้โจทก์รับไปไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในสัญญา คงค้างชำระ ๒๔๖,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่แน่นอน โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยแล้วปรากฏว่าไม่มีทรัพย์สินที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์ของจำเลยจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า จำเลยเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีอาชีพรับราชการมีเงินเดือนประจำพอที่จะชำระให้โจทก์เดือนละ ๒,๐๐๐ บาท จนครบตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ หาได้เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมจำเลยฟ้องขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๙ โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีนั้น ตกลงหย่าขาดจากกันโดยจำเลยยอมจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์และบุตรจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จะจ่ายงวดแรก ๖๐,๐๐๐ บาท ภายในกำหนดสามเดือน นับจากวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ เป็นต้นไป งวดต่อไปจะผ่อนชำระให้ในทุกวันที่ ๒๗ ของเดือนถัดไป จนกว่าจะชำระครบจำนวน หากผิดนัดไม่ชำระงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ ศาลพิพากษาตามยอม หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจนกระทั่งวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ โจทก์ได้รับชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความจากจำเลยรวม ๕๔,๐๐๐ บาท โดยงวดแรกจำเลยวางเงินชำระให้เพียง ๕๐,๐๐๐ บาท นอกนั้นจำเลยไม่ชำระให้ตามสัญญา คงค้างชำระถึงวันเวลาที่กล่าวแล้ว ๑๔,๐๐๐ บาท และตามสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าเป็นการผิดนัดชำระทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้ แต่ไม่มีทรัพย์ใดที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามทางพิจารณาไม่ปรากฏว่านอกจากเงินเดือนของจำเลยที่ได้รับจากทางราชการซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแล้ว ยังมีทรัพย์สินใดที่พอจะชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยอีกว่า จำเลยยังมีหนี้สินที่ต้องผ่อนคือรถยนต์และที่ดิน จำเลยจึงหาได้มีเจ้าหนี้เพียงรายเดียวคือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ หลังจากจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความหย่าขาดจากโจทก์ในเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ แล้ว คดีได้ความจากนางพัชรัตน์ภรรยาใหม่ของจำเลยว่า จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนางพัชรัตน์ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๙ หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความคิดเพียงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ถึง ๒ นัด จึงเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า การที่จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ก็เพื่อให้โจทก์ยอมจดทะเบียนหย่าให้จำเลย โดยที่จำเลยหาได้มีความพร้อมที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ เมื่อได้ความว่าจำเลยมีแต่หนี้สินและไม่มีทรัพย์สินอย่างใดที่จะชำระหนี้ได้ จึงได้ชื่อว่าจำเลยเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเมื่อจำเลยมีเจ้าหนี้หลายรายดังกล่าวมาแล้ว จึงเป็นการสมควรที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้เข้ามาจัดการทรัพย์สินของจำเลย ตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ บัญญัติไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share