คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำไปในทางการที่จ้างซึ่ง จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้อง ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อ โจทก์จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้าวิ่งรับขนส่งน้ำมันในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่ง จำเลยที่ 4 ได้ ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบ ตาม สัญญาขนส่งน้ำมันระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 4กำหนดให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างคนขับรถ ดังนี้ถือ ได้ ว่ากิจการดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 จึงต้อง ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันโดยละเมิดชนรถของโจทก์เสียหาย และโจทก์ได้รับบาดเจ็บถึงอันตรายสาหัสขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยอื่นให้การต่อสู้คดี
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นเรียกนางนิ่มนวล บุญศิริ ภรรยาจำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 นางนิ่มนวล บุญศิริในฐานะผู้แทนที่นายวิทยา บุญศิริ ผู้มรณะ จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 287,512 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ที่ 2 นางนิ่มนวล บุญศิริ ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 3และจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 401,512 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน80-3291 นครปฐม เพื่อนำมารับจ้างบรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 5โดยจำเลยที่ 5 ว่าจ้างจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับขนส่งน้ำมันตามภาพถ่ายสัญญาขนส่งน้ำมันเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 4 ได้ให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ร่วมรับขนส่งน้ำมันตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาเข้ารับขนส่งเอกสารหมาย จ.11 และเอกสารหมาย ล.9 จำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์คันดังกล่าวตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันหมายเลขทะเบียน 80-3291 นครปฐมด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9ก-4203กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เสียหายตามภาพถ่ายหมายจ.15 โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขับโดยมีโจทก์ที่ 2 ที่ 3 นั่งโดยสารมาด้วยได้รับอันตรายสาหัส ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเฉพาะเรื่องค่าเสียหายว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ของตนและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการทนทุกข์ทรมานนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องดังกล่าวไว้ เพิ่งหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3
คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่า จำเลยที่ 4จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 กระทำไปในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันหมายเลขทะเบียน 80-3291 นครปฐม เข้าวิ่งรับขนส่งน้ำมันในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่งจำเลยที่ 4 ได้ผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบทั้งนี้ตามสัญญาขนส่งน้ำมันระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 4กำหนดให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับผิดชอบค่าจ้างคนขับรถ จึงถือได้ว่ากิจการดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ด้วย …”
พิพากษายืน.

Share