คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1530-1532/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนี้ค้างชำระอันเกิดจากการขายแบตเตอรี่ให้แก่ลูกค้าที่ซื้อไปขายต่อเพื่อแสวงหากำไรอันเป็นการประกอบธุรกิจการค้าของลูกค้ามีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มิใช่กรณีลูกค้าซื้อไปเพื่อใช้เองอันมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยทวงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หนี้ที่ค้างชำระยังไม่ครบอายุความ 5 ปี แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะทวงหนี้จากลูกหนี้ไม่ครบทุกรายและเมื่อลูกหนี้ค้างชำระหนี้เกิน 2 ปีแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ตั้งสำรองหนี้สูญอันเป็นการผิดระเบียบก็ตาม แต่ผลเสียหายที่จำเลยติดตามหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระไม่ได้เกิดจากจำเลยเข้าใจผิดว่าหนี้ที่ลูกค้าค้างชำระนั้นมีอายุความ 2 ปี และขาดอายุความแล้วจึงไม่ได้ฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยไม่ติดตามฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ มิใช่เป็นผลมาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ทวงหนี้ และไม่ตั้งสำรองหนี้สูญ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอายัดเงินเดือน เงินโบนัส หรือเงินบำเหน็จของโจทก์ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เพื่อชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวา

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การแบตเตอรี่ พ.ศ.2498 โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยให้บริการต่าง ๆ เกี่ยวกับการอุตสาหกรรมของจำเลย ทำการค้าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมของจำเลย กระทำกิจการต่าง ๆ ที่จะเกิดประโยชน์แก่จำเลย โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยและเป็นพนักงานองค์การของรัฐ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการทำคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ข้อ 1 (4) และ ข้อ 2 ทั้งสามคำสั่งแก่โจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 71,583.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 72,074.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 162,627.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณานางวิไล ทรงประกอบ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ที่ 2 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ กห 5400/4045, กห 5400/4034, กห 5400/4040, กห 5400/4046, กห 5400/4035 และ กห 5400/4041 แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 คำสั่ง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 32,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 มกราคม 2546) ของต้นเงิน 4,000 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2546 และของต้นเงิน 4,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และคืนเงินจำนวน 29,010.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 มกราคม 2546) ของต้นเงิน 2,347.50 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2546 และของต้นเงิน 2,662.52 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ส่วนโจทก์ที่ 3 นั้นให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยโดยโจทก์ที่ 1 มีตำแหน่งประจำองค์การ เทียบเท่าหัวหน้ากอง ช่วยปฏิบัติงานกองบัญชีและการเงิน โจทก์ที่ 2 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองบัญชีและการเงิน โจทก์ที่ 3 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองวางแผนและประเมินผล ฝ่ายวางแผนและวิจัย ช่วยปฏิบัติงานฝ่ายขาย เนื่องจากมีหนี้ค้างชำระจากการขายแบตเตอรี่ตั้งแต่ปี 2537 ถึง 2539 และหนี้ค้างชำระจากการขายแบตเตอรี่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 ถึงเดือนมีนาคม 2541 เป็นหนี้ค้างชำระที่เกิดจากการย้ายร้านหนี และหนี้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2538 ถึง 2541 ที่ไม่เคลื่อนไหว จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง 3 ชุด คณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวทำการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นให้โจทก์ทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งจำนวนตามฟ้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า ความเสียหายของจำเลยตามฟ้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ค่าเสียหายตามฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ที่ค้างชำระจากการขายแบตเตอรี่ให้ลูกค้าที่ลูกค้ามิได้ซื้อไปใช้เองแต่ลูกค้าซื้อไปขายต่อเพื่อแสวงหากำไรอันเป็นการประกอบธุรกิจการค้าของลูกค้า ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) มิใช่ลูกค้าซื้อไปเพื่อใช้เองอันมีอายุความ 2 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ซึ่งขณะที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทวงให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้น หนี้ที่ค้างชำระยังไม่ครบอายุความ 5 ปี แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะทวงหนี้จากลูกหนี้ไม่ครบทุกราย เมื่อลูกหนี้ค้างชำระหนี้เกิน 2 ปี แล้วโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ตั้งสำรองหนี้สูญ อันเป็นการผิดระเบียบก็ตาม แต่ผลเสียหายที่จำเลยติดตามหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระไม่ได้นั้นเกิดจากจำเลยเข้าใจผิดว่าหนี้ที่ลูกค้าค้างชำระนั้นมีอายุความ 2 ปี และขาดอายุความแล้ว จึงไม่ได้ฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ มิใช่เป็นผลมาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ทวงหนี้ และไม่ตั้งสำรองหนี้สูญ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share