แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการพักงานตามมาตรา 116 และ 117 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 4 (2) เมื่อ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ มิได้บัญญัติเรื่องการพักงานไว้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการทุจริต จำเลยย่อมมีสิทธิพักงานโจทก์เพื่อสอบสวนได้ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย ซึ่งตามหมวด 3 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดว่า “ในระหว่างที่ถูกสั่งพักงานธนาคารจะควรจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่พึงได้รับหรือไม่อย่างไร กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเป็นผู้สั่งการ” เมื่อต่อมากรรมการผู้จัดการใหญ่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากธนาคาร โดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ให้ทั้งสิ้น ประกอบกับบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” หมายความว่า ลูกจ้างจะได้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เนื่องจากมีข้อเท็จจริงอันควรเชื่อว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งเป็นคำสั่งพักงานที่ชอบโดยไม่ได้กลั่นแกล้ง และในระหว่างพักงานโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนในระหว่างพักงานจากจำเลย
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องในทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์ทั้งสามเป็นพนักงานของจำเลย เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งสามและพนักงานอื่นรวม 4 คน โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสาม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตและให้งดจ่ายเงินเดือน เงินช่วยเหลือ และเงินได้อื่นใดที่พึงได้ทั้งสิ้น ต่อมาจำเลยสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าว จนในที่สุดจำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามและพนักงานอื่นรวม 4 คน ให้มีผลเลิกจ้างย้อนหลังไปถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 การสั่งพักงานและเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยทำการสอบสวนโดยรวบรัด ไม่ได้แสวงหาพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดอย่างแท้จริง เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส เงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวตามคำขอของโจทก์แต่ละสำนวน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า การกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสามเป็นการแสวงหาประโยชน์จากจำเลยโดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ผิดวินัยพนักงานอย่างร้ายแรง จึงมีคำสั่งไล่ออก อันเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม และเมื่อโจทก์ทั้งสามกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องเรียกเงินสะสมจากจำเลยภายในอายุความ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการพักงานตามมาตรา 116 และ 117 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 4 (2) เมื่อพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติเรื่องการพักงานไว้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการทุจริต จำเลยย่อมมีสิทธิพักงานโจทก์ทั้งสามเพื่อสอบสวนได้ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานของจำเลย ซึ่งตามหมวด 3 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า “ในระหว่างที่ถูกสั่งพักงาน ธนาคารจะควรจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่พึงได้รับหรือไม่อย่างไร กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเป็นผู้สั่งการ” ซึ่งตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานดังกล่าวให้อำนาจกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้พิจารณาเมื่อกรรมการผู้จัดการใหญ่มีคำสั่งที่ ธ. 465/2543 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ให้ไล่โจทก์ทั้งสามออกจากธนาคาร โดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ให้ทั้งสิ้น ประกอบกับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” หมายความว่า ลูกจ้างจะได้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งสามเนื่องจากมีข้อเท็จจริงอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตซึ่งเป็นคำสั่งพักงานที่ชอบโดยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสามและในระหว่างพักงานโจทก์ทั้งสามมิได้ทำงานให้แก่จำเลย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนในระหว่างพักงานจากจำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน