แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจและขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ โจทก์ไม่เป็นพ่อค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 (1) เดิม ซึ่งต่อมา ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า” เป็น “ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น ดังนั้น โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการค้า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกเอาค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสีย จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าการงานที่ได้ทำย่อมมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1)
พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ฯ มาตรา 14 บัญญัติว่า “บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์… ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 8 มิถุนายน 2535) หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัตินี้แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ” ดังนั้น เมื่อกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม แตกต่างและมีระยะเวลายาวกว่ากำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้ต้องบังคับตามกำหนดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ใช้บังคับ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 เรียกค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในช่วงเดือนเมษายน 2531 ถึง 7 มิถุนายน 2535 จึงไม่ขาดอายุความ คงขาดอายุความเฉพาะสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป
ตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ข้อ 10 ตกลงกันว่า จำเลยยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบริการในการบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมเอาจากจำเลยได้เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้กำหนดว่าโจทก์ต้องมีหน้าที่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสียให้จำเลย หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ดูแลท่อระบายน้ำปล่อยให้น้ำท่วมขังตามที่จำเลยนำสืบ จำเลยก็ไม่อาจบอกปัดความรับผิดชอบได้ แต่จำเลยสามารถดำเนินการโดยขอให้กรรมการโจทก์พิจารณาเรื่องดังกล่าว และถ้าหากจำเลยไม่พอใจการวินิจฉัยของกรรมการโจทก์ จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการใด ๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามข้อกำหนดในสัญญาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 588,485.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินในการนิคมอุตสาหกรรมบางพลี – บางบ่อของโจทก์ และได้ทำสัญญาการใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เรียกว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า กนอ. และให้เป็นนิติบุคคล หรือเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับ กนอ. (2) ปรับปรุงที่ดินตาม (1) เพื่อให้บริการตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าเพื่อส่งออกและผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการประกอบการค้าเพื่อส่งออก เช่น จัดให้มีถนน ท่อระบายน้ำ โรงบำบัดน้ำเสีย ไฟฟ้า ประปา และโทรคมนาคมเป็นต้น (3) การให้เช่า ให้เช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์แก่กิจการของนิคมอุตสาหกรรมโดยตรง (4) การดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ. (5) การร่วมดำเนินงานกับบุคคลอื่นตามวัตถุประสงค์ใน (1) (2) หรือ (3) รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด….” แสดงว่า โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจและขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ โจทก์ไม่เป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) เดิม ซึ่งต่อมาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ได้เปลี่ยนคำว่า “พ่อค้า” เป็น “ประกอบการค้า” ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น ดังนั้น โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้ประกอบการค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกเอาค่าบำรุงรักษาอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสีย จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการจำกัดน้ำเสีย จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าการงานที่ได้ทำ ย่อมมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดี การฟ้องการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 และค่าบริการกำจัดน้ำเสียตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 ซึ่งขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ยังไม่ได้ออกมาบังคับใช้ หากโจทก์จะฟ้องคดีตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) เดิม ไม่ถือว่าโจทก์เป็นพ่อค้า จึงไม่อยู่ในบังคับต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 2 ปีตามบทบัญญัติ มาตรา 165 (1) เดิม แต่โจทก์อาจฟ้องคดีได้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) ซึ่งในกรณีเช่นนี้มีพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 14 บัญญัติว่า “บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์… ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มีผลใช้บังคับวันที่ 8 มิถุนายน 2535) หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัตินี้แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ” ดังนั้น เมื่อกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม แตกต่างและมีระยะเวลายาวกว่ากำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีนี้ต้องบังคับตามกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยังไม่สิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ใช้บังคับ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกของเดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 และค่าบริการกำจัดน้ำเสียของเดือนเมษายน 2531 ถึงเดือนกันยายน 2535 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2531 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2535 จึงไม่ขาดอายุความ คงขาดอายุความเฉพาะสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสีย ปล่อยให้น้ำท่วมขังนั้น เห็นว่า ตามสัญญาการใช้ที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ข้อ 10 ตกลงกันว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์เก็บค่าบริการในการบำรุงรักษานิคมอุตสาหกรรมเอาจากจำเลยได้เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้กำหนดว่าโจทก์ต้องมีหน้าที่ดูแลท่อระบายน้ำเพื่อกำจัดน้ำเสียให้จำเลย หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่จำเลยนำสืบ จำเลยก็ไม่อาจบอกปัดความรับผิดชอบได้ แต่จำเลยสามารถดำเนินการตามสัญญาข้อ 16 โดยขอให้กรรมการโจทก์พิจารณาเรื่องดังกล่าว และถ้าหากจำเลยไม่พอใจการวินิจฉัยของกรรมการโจทก์ จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไปได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการใด ๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามข้อกำหนดในสัญญาได้”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินเฉพาะค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกและค่าบริการกำจัดน้ำเสียของงวดประจำเดือนเมษายน 2531 ถึงงวดประจำเดือนพฤษภาคม 2535 พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากยอดหนี้ในแต่ละเดือนนับจากวันสิ้นเดือนในแต่ละเดือนถึงเดือนพฤษภาคม 2535 ให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินซึ่งเป็นค่าบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าบริการกำจัดน้ำเสียและเงินเพิ่มที่คำนวณรวมกันได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2535 โดยให้นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์