แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ให้จำเลยรับจำนองที่ดิน โดยโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาหนังสือสัญญาจำนองไว้และจำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่กรอกข้อความให้ไว้ต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์สามารถไถ่ถอนจำนองได้เอง แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยรับจำนองที่ดินในฐานะตัวแทนของโจทก์เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยเปลี่ยนชื่อผู้รับจำนองมาเป็นชื่อโจทก์อันเป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 798
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยในฐานะตัวแทนเชิดรับจำนองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 215 และ 217 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชื่อโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับจำนองที่ดินทั้ง 2 แปลงตามฟ้องไว้ในฐานะส่วนตัวไม่ได้กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ โจทก์จำเลยเคยเป็นสามีภริยากัน จำเลยรับจำนองที่ดินพิพาท และได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และสัญญาจำนองให้โจทก์เก็บรักษาไว้แทนจำเลย เมื่อจำเลยทวงถามโจทก์ไม่ยอมคืนเอกสารดังกล่าวให้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้รับจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 215 และ 217 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จากจำเลยในฐานะตัวแทนเชิดมาเป็นชื่อโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 4,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยรับจำนองที่ดิน 2 แปลง ตามฟ้องในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์หรือไม่ … เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบให้เห็นว่า ก่อนที่จำเลยจะรับจำนองที่ดิน 2 แปลงตามฟ้อง จำเลยและโจทก์รวมถึงครอบครัวของโจทก์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันถึงขนาดที่โจทก์และครอบครัวของโจทก์ให้ความเชื่อถือแก่จำเลยยอมโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 13 และ จ. 15 ให้เป็นชื่อของจำเลยตามคำแนะนำของจำเลย ซึ่งหากโจทก์ตกลงขายที่ดิน 2 แปลง ดังกล่าวจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็ไม่มีคาวมจำเป็นใดที่จะต้องให้นายสมชายทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 14 โดยมีนางบังอรแม่ยายของจำเลย และนางอัจฉราภริยาของจำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยาน และไม่มีความจำเป็นที่จำเลยจะต้องรีบทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ. 16 ให้โจทก์ ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน อีกทั้งจำเลยยังเบิกความรับว่า จำเลยและโจทก์ได้ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาราชวงศ์ ตามเอกสารหมาย จ. 20 แผ่นที่ 9 เพื่อใช้เงินของโจทก์ที่ได้จากการจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 20 แผ่นที่ 9 เพื่อใช้เงินของโจทก์ที่ได้จากการจำนองที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. 13 ซึ่งตามคำขอเปิดบัญชีออมทรัพย์นั้น แม้จะใช้ชื่อจำเลยผู้เดียวเป็นชื่อบัญชี แต่โจทก์หรือจำเลยคนใดคนหนึ่งมีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ เช่นเดียวกับการเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ. 20 แผ่นแรก ซึ่งเป็นการแสดงต่อบุคคลภายนอกว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีแต่ผู้เดียว และในกรณีการจำนองที่ดินตามฟ้องก็เช่นกัน หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการชำระเงินกู้ให้แก่นายสัมฤทธิ์และนางสนิทผู้จำนองได้แก่สำเนาภาพถ่ายตั๋วแลกเงินเอกสารหมาย จ. 4 มีข้อความด้านล่างว่า นายสัมฤทธิ์รับเงิน 1,240,000 บาท ไว้เรียบร้อย จำเลยลงลายมือชื่อในช่องผู้รับชำระเงิน โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วย สัญญากู้เงินจำนวน 300,000 บาท ที่นายสัมฤทธิ์เป็นผู้กู้ ตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็มีนายอัมพรลงลายมือชื่อเป็นพยานด้วย ตั๋วแลกเงินที่จ่ายให้แก่นายสัมฤทธิ์อีก 265,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ. 6 มีข้อความว่า นายอัมพรเป็นผู้ขอโอน หากจำเลยรับจำนองที่ดินดังกล่าวโดยลำพังตนเองแล้วก็ไม่น่าจะมีโจทก์และนายอัมพรลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว ประกอบกับได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ด้วยว่า โจทก์เป็นผู้เก็บรักษาหนังสือสัญญาจำนองและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้งสองแปลงนั้นไว้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความให้ไว้ต่อโจทก์ เพื่อให้โจทก์สามารถไถ่ถอนจำนองได้เองตามหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนของจำเลยเอกสารหมาย จ. 23 และ จ. 24 เห็นได้ว่าพยานหลักฐานโจทก์เชื่อมโยงกันอย่างสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ มีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยรับจำนองที่ดิน 2 แปลงตามฟ้องในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า การตั้งตัวแทนเพื่อรับจำนองที่ดินต้องทำเป็นหนังสือแต่โจทก์ไม่มีหลักฐานเช่นนั้นจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องพิพาทกันระหว่างโจทก์ตัวการและจำเลยตัวแทน โดยโจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดินและโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยเปลี่ยนชื่อผู้รับจำนองมาเป็นชื่อโจทก์อันเป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้โดยไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน