คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การวาดภาพนกของโจทก์ที่ 1 ให้แก่ บ. ตั้งแต่แรกในปี 2515 จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2521 เป็นช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมฯ มีผลใช้บังคับอยู่ การที่โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ข้อตกลงวาดภาพนกดังกล่าวเป็นการจ้างแรงงานโดยไม่มีข้อสัญญาให้ลิขสิทธิ์ตกแก่โจทก์ที่ 1 นั้น ย่อมมีผลให้ลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพวาดนั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้จ้างตามมาตรา 12 (ข) แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มิใช้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด
แม้สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างต่างก็ต้องทำงานให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง และนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างเป็นการตอบแทนเช่นกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันที่สำคัญคือ ตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นลูกจ้างต้องทำงานให้นายจ้างตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาจ้างแรงงานที่ตกลงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการตกลงกัน โดยมุ่งประสงค์ต่อผลสำเร็จของการงานอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ หรือคิดค่าตอบแทนจากผลสำเร็จของการงานที่ตกลงกันแต่อย่างใด นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีสิทธิบังคับบัญชามอบหมายและควบคุมกำกับการทำงานของลูกจ้างให้ทำงานใด ๆ ภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าที่และสภาพการจ้างงานนั้นได้ ส่วนสัญญาจ้างทำของนั้น ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจะมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามข้อตกลงที่ว่าจ้างให้ทำกัน โดยถือเอาผลสำเร็จของการงานที่ตกลงให้ทำกันนั้นเป็นสาระสำคัญ โดยผู้ว่าจ้างมิได้มีสิทธิบังคับบัญชาสั่งการผู้รับจ้างแต่อย่างใด พฤติการณ์ที่มีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน และผู้ว่าจ้างจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานให้ผู้ทำงานนั้น แม้จะเป็นพฤติการณ์ที่มักเกิดขึ้นในกรณีของการจ้างลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ทำให้ฟังได้ว่าเป็นกรณีตามสัญญาจ้างแรงงานเสมอไปทั้งหมด เนื่องจากสัญญาจ้างทำของก็อาจมีพฤติการณ์การจ่ายค่าตอบแทนหรือการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทำงานเช่นเดียวกับการจ้างแรงงานได้เช่นกัน
การที่โจทก์ทั้งสองทำงานวาดภาพนกให้แก่ บ. นั้นก็เพื่อใช้ประกอบหนังสือ “A Guide to the Birds of Thailand” ที่ บ. จะจัดทำขึ้น โดยในการวาดภาพต้องทำให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนกแต่ละวงศ์ แต่ละชนิด ต้องใช้ซากนกที่ บ. เก็บรวบรวมไว้จำนวนมาก และต้องเดินทางไปดูนกในสภาพธรรมชาติ กับยังต้องค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้การวาดภาพนกนี้ต้องใช้เวลานานหลายปี และเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องให้โจทก์แต่ละคนทำงานที่สถานที่ทำงานของ บ. เพื่อความสะดวกในการเทียบเคียงข้อมูลและประสานข้อมูล การบรรยายด้วยข้อความกับภาพวาดให้สอดคล้องต้องกัน ทั้งยังได้ความว่าในการทำงานวาดภาพนก บ. ไม่ได้กำหนดให้โจทก์ที่ 1 วาดภาพนกเป็นตัว ๆ แต่จะกำหนดเป็นวงศ์ แล้วโจทก์ที่ 1 จะวาดภาพนกในวงศ์นั้นทั้งหมด การกำกับดูแลของ บ. เป็นเพียงการเร่งรัดงานเท่านั้น สำหรับโจทก์ที่ 2 ก็วาดภาพโดยได้รับคำแนะนำให้ข้อมูลจาก ฟ. และดูตัวอย่างจากซากนก กับข้อมูลจากหนังสือต่าง ๆ หาก ฟ. หรือ บ. เห็นว่าไม่ถูกต้อง และแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบ ถ้าโจทก์ที่ 2 เห็นด้วยก็จะแก้ไข แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะไม่แก้ไข อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ทั้งสองทำงานวาดภาพโดยมีอิสระในการทำงานมาก มิใช่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเยี่ยงที่นายจ้างมีต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด และในการเดินทางไปดูนกในสภาพตามธรรมชาติก็ยังปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้เป็นลูกจ้าง ทั้งเมื่อโจทก์ทั้งสองวาดภาพเพื่อประกอบการทำหนังสือดังกล่าวแล้วเสร็จ โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้ทำการวาดภาพหรือทำงานกับ บ. หรือจำเลยที่ 1 อีกแต่อย่างใด เห็นได้ว่าสภาพการทำงานให้แก่ บ. ของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว บ. จะมุ่งประสงค์ถึงความสำเร็จในการจัดทำหนังสือเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดจำนวนงานได้แต่แรก เพราะต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลและศึกษาดูนกกับวาดภาพนกเพิ่มเติมจนกว่าจะเห็นว่ามีข้อมูลและภาพวาดที่สมบูรณ์เป็นที่พอใจที่จะรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือได้ การที่จ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนในพฤติการณ์ทำงานในระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้จึงอาจเป็นการแบ่งจ่ายค่าจ้างทำของให้เหมาะสมแก่สภาพงานในลักษณะดังกล่าว เพื่อมิให้เป็นการเอาเปรียบโจทก์แต่ละคนและเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองที่ไม่ต้องรอรับค่าตอบแทนเมื่องานเสร็จสิ้นในภายหลังที่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากเช่นนั้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า การวาดภาพนกของโจทก์ทั้งสองเป็นไปตามสัญญาจ้างทำของ และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จึงตกเป็นของผู้ว่าจ้าง มิใช่ตกเป็นของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ผู้รับจ้างแต่อย่างใด ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 7 และ 8 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น แม้หากจะถือข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองว่างานตามคำฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองก็ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องแต่อย่างใด
ที่ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ขอให้พิพากษาว่าลิขสิทธิ์ในหนังสือเป็นของกองมรดก บ. ในฐานะที่ บ. เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองวาดภาพนั้น เนื่องจากในส่วนงานภาพนกที่พิพาทกันมีจำนวนมากถึง 1,878 ภาพ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของกองมรดก บ. หรือของจำเลยที่ 1 จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่างานภาพนกแต่ละภาพเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการสร้างสรรค์โดยความริเริ่มของผู้สร้างสรรค์และมิได้ลอกเลียนงานอื่นที่มีลิขสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนไม่มีรายละเอียดที่จะวินิจฉัยได้ในแต่ละภาพ เนื่องจากคู่ความนำสืบในลักษณะรวม ๆ กันมาเป็นส่วนใหญ่ ไม่อาจวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด จึงควรให้ยกคำร้องสอดโดยไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนตามเดิม ให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ประเภทงานศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม ภาพวาดนกในหนังสือที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “A Guide to the Birsd of Thailand” จำเลยทั้งสามเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 โดยนายบุญส่ง เลขะกุล ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองทำงานในฐานะลูกจ้าง ให้ทำการค้นคว้าสร้างสรรค์งานจิตรกรรม โดยวาดภาพนกในประเทศไทย เพื่อรวบรวมทำหนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” โจทก์ที่ 1 วาดภาพนกจำนวน 1,479 ภาพ รวม 96 ต้นแบบแม่พิมพ์ โจทก์ที่ 2 วาดภาพนกจำนวน 399 ภาพ รวม 33 ต้นแบบแม่พิมพ์ เพื่อพิมพ์ลงในหนังสือดังกล่าวซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นจำนวน 20,000 เล่ม แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือนี้ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง และโจทก์ทั้งสองลาออกจากงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยนำภาพวาดนกดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนอกวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง โดยนำหนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” ไปจัดพิมพ์เพิ่มอีก 3 ครั้ง รวม 60,000 เล่ม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 นำภาพวาดนก ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในลักษณะของแผ่นภาพปฏิทินแขวน แจกจ่ายสมนาคุณแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าของจำเลยที่ 2 โดยมีการพิมพ์เครื่องหมายการค้าและรูปรอยประดิษฐ์อันเป็นสื่อโฆษณาที่ทำให้บุคคลทั่วไปทราบว่าเป็นสินค้าของจำเลยที่ 2 ไว้ในปฏิทินแขวนนั้นโดยมีจำเลยที่ 3 ในฐานะบริษัทตัวแทนการทำโฆษณาของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 10,8000,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบต้นแบบแม่พิมพ์ภาพวาดนกแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 500,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่ง นายบุญส่งเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นซึ่งหนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” ตามคำฟ้องโดยความคิดริเริ่มของนายบุญส่งเอง นายบุญส่งจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” ดังกล่าว ต่อมานายบุญส่งป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตไปเลี้ยงสมองอุดตัน ช่วยเหลือตนเองไม่ได้และในปี 2529 ศาลแพ่งได้มีคำสั่งว่านายบุญส่งเป็นคนไร้ความสามารถ และให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดในฐานะผู้อนุบาลได้มอบลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์โฆษณา และจำหน่ายหนังสือนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังเมื่อนายบุญส่งถึงแก่ความตาย ลิขสิทธิ์ในหนังสือจึงตกเป็นทรัพย์สินของกองมรดกของนายบุญส่ง ในการจัดทำหนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” นี้ นายบุญส่งได้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเพียงนักวาดภาพธรรมดาให้วาดภาพเหมือนนกจากซากนกที่นายบุญส่งได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ และที่ได้ขอยืมจากสถานที่ต่าง ๆ โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพวาดนกในหนังสือดังกล่าว และเนื่องจากกองมรดกนายบุญส่ง เลขะกุล เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” และภาพวาดนกในหนังสือตามคำฟ้อง ผู้ร้องจึงร้องสอดเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาให้กองมรดกนายบุญส่ง เลขะกุล เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในหนังสือดังกล่าวซึ่งรวมทั้งภาพวาดนกตามคำฟ้อง โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้โฆษณาและจำหน่ายตามจำนวนที่ได้รับอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ทั้งสองให้การ ขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยที่ 1 ให้การแก้คำร้องสอดว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับว่านายบุญส่ง เลขะกุล เป็นผู้สร้างสรรค์หนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” โดยแก้ไขดัดแปลงจากหนังสือคู่มือดูนกเล่มที่ 1 และเล่มที่ 2 กองมรดกของนายบุญส่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพวาดนกแม่พิมพ์ต้นแบบทั้งหมดและหนังสือดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องสอดในฐานะผู้อนุบาลของนายบุญส่งได้มอบลิขสิทธิ์ในการนำหนังสือออกโฆษณาจัดพิมพ์และจำหน่ายในจำนวนไม่เกิน 40,000 เล่ม ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยังจัดพิมพ์หนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” ไม่เกินจำนวนดังกล่าวลิขสิทธิ์ในการโฆษณา จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือดังกล่าวจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 330,000 บาท และ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 4 มกราคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับคำขอของโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้และคำร้องสอดให้ยก ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3
ผู้ร้องสอดและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ตามพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบปรากฏว่า โจทก์ที่ 1 ตกลงวาดภาพนกตามคำฟ้องหลายภาพให้แก่นายบุญส่ง เลขะกุล ตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปี 2534 และโจทก์ที่ 2 ตกลงวาดภาพนกตามคำฟ้องอีกส่วนหนึ่งตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปี 2534 ในส่วนภาพวาดนกที่โจทก์ที่ 1 วาดขึ้นตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งเป็นเวลาอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 โดยตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มาตรา 12 (ข) บัญญัติว่า “ถ้าผู้ประพันธ์เป็นลูกจ้างแรงงานหรือเป็นลูกมือฝึกหัด ผู้ประพันธ์ได้ทำวรรณกรรมหรือศิลปกรรมขึ้นในหน้าที่ผู้รับจ้าง และมิได้มีข้อสัญญาไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าบุคคลผู้จ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์…” ดังนี้ การวาดภาพของโจทก์ที่ 1 ให้แก่นายบุญส่งตั้งแต่แรกในปี 2515 จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2521 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 มีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ข้อตกลงวาดภาพดังกล่าวเป็นการจ้างแรงงานโดยไม่มีข้อสัญญาให้ลิขสิทธิ์ตกแก่โจทก์ที่ 1 นั้นย่อมมีผลให้ลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพวาดนั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้จ้างตามมาตรา 12 (ข) พระราชบัญญัติดังกล่าว มิใช่ลิขสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 บัญญัติว่า “อันสัญญาจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” ส่วนสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” จากบทบัญญัติ 2 มาตรานี้ เห็นได้ว่า แม้สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของจะมีลักษณะที่คล้ายกันคือ ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างต่างก็ต้องทำงานให้แก่นายจ้างหรือผู้ว่าจ้างและนายจ้างหรือผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างหรือผู้รับจ้างเป็นการตอบแทนเช่นกัน แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันที่สำคัญ คือ ตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นลูกจ้างต้องทำงานให้นายจ้างตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาจ้างแรงงานที่ตกลงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการตกลงกันโดยมุ่งประสงค์ต่อผลสำเร็จของการงานอันใดอันหนึ่งโดยเฉพาะ หรือคิดค่าตอบแทนจากผลสำเร็จของการงานที่ตกลงกันแต่อย่างใด นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานมีสิทธิบังคับบัญชามอบหมายและควบคุมกำกับการทำงานของลูกจ้างให้ทำงานใด ๆ ภายใต้ข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าที่และสภาพการจ้างงานนั้นได้ ส่วนสัญญาจ้างทำของนั้น ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจะมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อความสำเร็จของงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามข้อตกลงที่ว่าจ้างให้ทำกัน โดยถือเอาผลสำเร็จของการงานที่ตกลงให้ทำกันนั้นเป็นสาระสำคัญโดยผู้ว่าจ้างมิได้มีสิทธิบังคับบัญชาสั่งการผู้รับจ้างแต่อย่างใดพฤติการณ์ที่มีการจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน และผู้ว่าจ้างจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือในการทำงานให้ผู้ทำงานนั้น แม้จะเป็นพฤติการณ์ที่มักเกิดขึ้นในกรณีของการจ้างลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ทำให้ฟังได้ว่าเป็นกรณีตามสัญญาจ้างแรงงานเสมอไปทั้งหมด เนื่องจากสัญญาจ้างทำของก็อาจมีพฤติการณ์การจ่ายค่าตอบแทนหรือการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทำงานเช่นเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ซึ่งโดยเฉพาะในกรณีการทำงานวาดภาพนกของโจทก์ทั้งสองนี้โจทก์ทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า เหตุที่โจทก์แต่ละคนทำงานวาดภาพนกให้แก่นายบุญส่งเนื่องจากนายบุญส่งประสงค์จะจัดทำหนังสือเกี่ยวกับนกซึ่งต้องมีภาพวาดนกประกอบไว้ในหนังสือนั้นด้วย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ส่อแสดงว่านายบุญส่งต้องการผลงานภาพวาดนกสำหรับใช้ประกอบการทำหนังสือดังกล่าวให้สำเร็จ จึงตกลงให้โจทก์แต่ละคนวาดภาพนกให้ และยังปรากฏว่าการวาดภาพนกเพื่อประกอบการทำหนังสือนี้จะต้องทำให้สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับนกแต่ละวงศ์แต่ละชนิด ซึ่งต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลโดยใช้ซากนกที่นายบุญส่งเก็บรวบรวมไว้ในสถานที่ทำงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังต้องมีการเดินทางไปดูนกในสภาพธรรมชาติ และต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลและศึกษาดูนกกับวาดภาพนกเพิ่มเติม อันเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องให้โจทก์แต่ละคนทำงานที่สถานที่ทำงานของนายบุญส่งเพื่อสะดวกในการเทียบเคียงข้อมูลและประสานข้อมูลการบรรยายด้วยข้อความกับภาพวาดให้ถูกต้องสอดคล้องกัน ทั้งยังได้ความว่านายบุญส่งไม่ได้กำหนดให้วาดภาพนกเป็นตัว ๆ แต่จะกำหนดวงศ์ เช่น วงศ์นกเอี้ยง เป็นต้น แล้วโจทก์ที่ 1 จะวาดภาพนกในวงศ์นกเอี้ยงเองทั้งหมด อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ทำงานวาดภาพโดยมีอิสระในการทำงานมาก การกำกับดูแลของนายบุญส่งเป็นเพียงการเร่งรัดงานเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าการจ้างโจทก์ที่ 1 นี้มีลักษณะที่โจทก์ที่ 1 ต้องทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของนายบุญส่งแต่อย่างใด และในการเดินไปดูนกตามธรรมชาติก็ยังปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้เป็นลูกจ้าง ส่วนที่โจทก์ที่ 2 ก็เบิกความว่า โจทก์ที่ 2 วาดภาพโดยได้รับคำแนะนำให้ข้อมูลดูจุดสังเกตของนกจากนายฟิลิปกับคำบรรยายของนายฟิลิป นายบุญส่งจะเข้ามาดูบ้าง แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือให้ข้อสังเกตแต่อย่างใด การลงสีโจทก์ที่ 2 ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งประกอบกัน ทั้งดูตัวอย่างจากซากนกสกิน จากบันทึกของโจทก์ที่ 2 และข้อมูลจากหนังสืออื่น ๆ หากนายฟิลิปหรือนายบุญส่งเห็นว่าไม่ถูกต้องและแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบ ถ้าโจทก์ที่ 2 เห็นด้วยก็จะแก้ไข แต่ถ้าไม่เห็นด้วย โจทก์ที่ 2 จะไม่แก้ไข ซึ่งแสดงถึงความเป็นอิสระในการทำงานของโจทก์ที่ 2 ว่ามิใช่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเยี่ยงที่นายจ้างมีต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานแต่อย่างใด หลังจากวาดภาพเพื่อประกอบการทำหนังสือดังกล่าวแล้วเสร็จ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ได้ทำการวาดภาพหรือทำงานกับนายบุญส่งหรือจำเลยที่ 1 อีกแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าสภาพการทำงานดังกล่าว แม้นายบุญส่งจะมุ่งประสงค์ถึงความสำเร็จในการจัดทำหนังสือ แต่ก็ยากที่จะกำหนดจำนวนงานได้แต่แรก เพราะต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลและศึกษาดูนกกับวาดภาพนกเพิ่มเติมจนกว่าจะเห็นว่ามีข้อมูลและภาพวาดที่สมบูรณ์เป็นที่พอใจที่จะรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือได้ การที่จ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นรายเดือนในพฤติการณ์การทำงานในระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้จึงอาจเป็นการแบ่งจ่ายค่าจ้างทำของให้เหมาะสมแก่สภาพงานในลักษณะดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองทำงานวาดภาพนกตามคำฟ้องตามสัญญาจ้างทำของโดยไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จึงตกแก่ผู้ว่าจ้าง มิใช่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ผู้รับจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะถือตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองว่างานตามคำฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองก็ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามคำฟ้องแต่อย่างใด
ส่วนที่ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ขอให้พิพากษาว่าลิขสิทธิ์ในหนังสือ “A Guide to the Birsd of Thailand” ตามเอกสารหมาย จ. 15 เป็นของกองมรดกนายบุญส่ง เลขะกุล ในฐานะที่นายบุญส่งเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ทั้งสองวาดภาพนั้น เนื่องจากในส่วนงานภาพนกที่พิพาทกันนั้นมีจำนวนมากถึง 1,878 ภาพ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของกองมรดกนายบุญส่งหรือของจำเลยที่ 1 จะต้องพิจารณาเสียก่อนว่างานภาพนกแต่ละภาพเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการสร้างสรรค์ขึ้นโดยความริเริ่มของผู้สร้างสรรค์และมิได้ลอกเลียนงานอื่นที่มีลิขสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนไม่มีรายละเอียดที่จะวินิจฉัยได้ในแต่ละภาพ เนื่องจากคู่ความนำสืบในลักษณะรวม ๆ กันมาเป็นส่วนใหญ่ ไม่อาจวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัด จึงควรให้ยกคำร้องสอดโดยไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องสอดที่จะฟ้องใหม่

Share