คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรณีที่คู่ความยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจคำฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ หากคู่ความประสงค์จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น คู่ความจะต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 234 หากคู่ความไม่ปฏิบัติตาม ศาลชั้นต้นจะต้องส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งอีกไม่ได้ เนื่องจากพ้นอำนาจของศาลชั้นต้นไปแล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์จำเลย โดยจำเลยมิได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์มาวางศาลหรือหาประกันไว้ให้ต่อศาลภายในกำหนด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ถูกต้อง
ค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์คำพิพากษาจะต้องใช้แทนโจทก์เป็นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 การที่จำเลยเพียงแต่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์โดยที่ไม่นำค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แทนโจทก์มาวางศาลหรือหาประกันไว้ให้ต่อศาลภายในกำหนดจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 234

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้กันที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกครึ่งหนึ่งก่อน และให้จำเลยแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ใน 11 ส่วน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามส่วนดังกล่าวข้างต้น และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มาวางภายใน 15 วัน จึงจะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ก่อนพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 มิใช่คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยมาเป็นการไม่ชอบ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 กับยกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลย
หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังแล้ว จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 14 มิถุนายน 2545 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์จำเลยฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลย
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 24 มิถุนายน 2545 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2545 ว่าจำเลยไม่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 จึงไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง
จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่าจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งโดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 เป็นการไม่ชอบ ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “กรณีที่คู่ความยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจคำฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 232 กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ หากคู่ความประสงค์จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น คู่ความจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 บัญญัติ หากคู่ความไม่นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นจะต้องส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งอีกไม่ได้ เนื่องจากพ้นอำนาจของศาลชั้นต้นไปแล้ว ดังนั้น เมื่อจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 24 มิถุนายน 2545 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์จำเลยโดยจำเลยมิได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชำระตามคำพิพากษามาวางต่อศาลหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดและศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2545 ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง แต่ไม่มีเหตุที่จะต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งใหม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามที่จำเลยฎีกาไปเลย ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยจะต้องใช้แทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 234 ดังกล่าว การที่จำเลยเพียงแต่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์โดยที่ไม่นำค่าฤชาธรรมเนียมที่ใช้แทนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มาวางศาลหรือหาประกันไว้ให้ต่อศาลภายในกำหนด จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 234”
พิพากษายืน

Share