คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้า บริษัท ส. โดย ซ. และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้… ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี… ข้อ 9 … ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ…” และหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับมีข้อความว่า “ด้วยหนังสือนี้ข้าพเจ้าบริษัท ส. โดย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ จ. และหรือ ก. ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้…” แม้หนังสือมอบอำนาจฉบับหลังจะระบุว่า ว. ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานะตัวแทนโจทก์ก็ตามแต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล” ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่า จ. และหรือ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง กับอ้างหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความคือโจทก์โดย จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่า ว. มีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจฉบับหลังเพื่อมอบอำนาจช่วงให้ จ. และหรือ ก. ฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายวินิตดำเนินคดีแทนและมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ ซึ่งนายวินิตมอบอำนาจช่วงให้นายจาตุรนต์ และหรือนายกฤตธี เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ ในราคา 1,531,570.20 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 1,072,123 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เป็นเงิน 331,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 8,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา และให้ร่วมกันชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 44,672 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 800,000 บาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 195,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 195,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 เมษายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็สจ กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแต่ไม่เกิน 6 เดือน และให้ร่วมกันชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7,147.32 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า นายวินิต สัมฤทธิ์ปรีชา ได้มอบอำนาจให้นายจาตุรนต์ จันทรทรัพย์และหรือนายกฤตธี แหละเหล่าปราชญ์ เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 โดยนายวินิจลงลายมือชื่อเพียงผู้เดียวและประทับตราสำคัญของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 จึงไม่สมบูรณ์ตามหนังสือรับรองของโจทก์และไม่ผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 มีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้า บริษัท สแกนดิเนเวียฯ โดยนายไซมอน แอร์สวาร์เร็น โบไนเทิ่น และนายวินิต สัมฤทธิ์ปรีชา กรรมการผู้มีอำนาจขอแต่งตั้งให้ นายวินิต สัมฤทธิ์ปรีชา แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญบริษัท ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้… ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี… ข้อ 9… ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ…” และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 มีข้อความว่า “ด้วยหนังสือนี้ ข้าพเจ้าบริษัท สแกนดิเนเวียฯ โดยนายวินิต สัมฤทธิ์ปรีชา กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ นายจตุรนต์ จันทรทรัพย์ และหรือ นายกฤตธี แหละเหล่าปราชญ์ ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้…” แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 ระบุว่านายวินิตฯ ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานะตัวแทนโจทก์ก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 10 บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสาร อาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล” ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่า นายจตุรนต์ จันทรทรัพย์ และหรือ นายกฤตธี แหละเหล่าปราชญ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงกับอ้างหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 และ จ. 3 เป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความ คือ โจทก์โดยนายจตุรนต์ จันทรทรัพย์ ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่านายวินิตมีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 เพื่อมอบอำนาจช่วงให้นายจตุรนต์และหรือนายกฤตธีฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 จึงมีผลสมบูรณ์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share