แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พยานเอกสารที่ส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลนั้น คงรับฟังได้แต่เพียงว่าผู้จัดส่งเป็นผู้ครอบครองเอกสารนั้นไว้ แต่การที่จะรับฟังได้ว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องนั้น ผู้อ้างเอกสารจะต้องนำสืบพิสูจน์ต่อศาลอีกชั้นหนึ่ง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่ต้องพิสูจน์ รายงานแพทย์ที่โรงพยาบาลที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกมาจากโรงพยาบาลนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่ต้องพิสูจน์ความแท้จริงและความถูกต้อง เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่าโจทก์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีในขณะทำสัญญาประกันชีวิตและไม่เคยแจ้งแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง จำเลยมีภาระในการพิสูจน์ว่ารายงานแพทย์ดังกล่าวที่ระบุว่าโจทก์มีประวัติเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงนั้นแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยอ้างส่งรายงานแพทย์ลอย ๆ โดยมิได้นำแพทย์ที่ซักประวัติโจทก์หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาเบิกความยืนยันให้เห็นว่าเป็นรายงานแพทย์ที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ให้รายละเอียดกับแพทย์ผู้ตรวจรักษาตามรายงานแพทย์เอกสารหมาย ป.ล. 3 ไว้จริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 115,237 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงต่าง ๆ ที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันชีวิตสืบไปตราบเท่าที่สัญญาประกันชีวิตจะมีผลใช้บังคับ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ชดใช้เงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 84,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 โจทก์ยื่นคำขอเอาประกันชีวิตต่อจำเลยโดยระบุว่าไม่เคยเป็นโรคใด ๆ จำเลยรับประกันและออกกรมธรรม์ให้ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย ป.จ.ล. 1 ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม 2540 ซึ่งสัญญาประกันชีวิตยังมีผลใช้บังคับอยู่ โจทก์ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์อันเนื่องมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดในสมองตีบ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โจทก์ขอรับเงินตามสัญญาแต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระด้วยการบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โดยอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆียะ เนื่องจากโจทก์ปกปิดข้อความจริงว่าตนไม่เคยเป็นโรคดังกล่าวซึ่งหากจำเลยรู้จะบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จะรับฟังรายงานแพทย์โรงพยาบาลธนบุรี เอกสารหมาย ป.ล. 3 ว่า โจทก์ได้ให้รายละเอียดกับแพทย์ผู้ตรวจรักษาว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานมาแล้ว 3 ปี และ โรคความดันโลหิตสูงมาแล้ว 2 ปี ได้หรือไม่ เห็นว่า พยานเอกสารที่ส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลนั้น คงรับฟังได้แต่เพียงว่า ผู้จัดส่งเป็นผู้ครอบครองเอกสารนั้นไว้ แต่การที่จะรับฟังได้ว่า เอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องนั้น ผู้อ้างเอกสารจะต้องนำสืบพิสูจน์ต่อศาลอีกชั้นหนึ่ง มิใช่ว่าเมื่อศาลได้รับเอกสารจากผู้ใดแล้วจะต้องฟังว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องเสมอไป เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าไม่ต้องพิสูจน์ สำหรับรายงานแพทย์โรงพยาบาลธนบุรีที่จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกมาจากโรงพยาบาลดังกล่าวนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่ต้องพิสูจน์ความแท้จริงและความถูกต้อง เมื่อโจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีในขณะทำสัญญาประกันชีวิต และไม่เคยแจ้งแพทย์โรงพยาบาลธนบุรีว่าเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงแต่ประการใด จำเลยย่อมต้องมีภาระในการพิสูจน์ว่า รายงานแพทย์ดังกล่าวที่ระบุว่า โจทก์มีประวัติเป็นโรคเบาหวานมา 3 ปี และโรคความดันโลหิตสูงมา 2 ปี รักษาโดยซื้อยากินมาตลอดไม่ค่อยได้พบแพทย์นั้นแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยอ้างส่งรายงานแพทย์ เอกสารหมาย ป.ล. 3 ลอย ๆ โดยมิได้นำแพทย์ที่ซักประวัติโจทก์หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาเบิกความยืนยันให้เห็นว่าเป็นรายงานแพทย์ที่แท้จริงและถูกต้อง ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ให้รายละเอียดแก่แพทย์ผู้ตรวจรักษาตามรายงานแพทย์ เอกสารหมาย ป.ล. 3 ไว้จริงส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ยอมรับในอุทธรณ์ว่า รายงานแพทย์ดังกล่าวเป็นบันทึกที่ทำโดยนายแพทย์ผู้ตรวจรักษานั้น ปรากฏข้อความตอนนี้ในอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวศาลไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงข้อความใดของเอกสารที่ศาลนำมาวินิจฉัยได้ว่า โจทก์เป็นผู้ให้ถ้อยคำในรายงานแพทย์และรายงานแพทย์เป็นบันทึกที่ทำโดยนายแพทย์ผู้ตรวจรักษา ดังนี้เท่ากับว่าโจทก์ได้ปฏิเสธความแท้จริงและความถูกต้องของรายงานแพทย์ เอกสารหมาย ป.ล. 3 นั่นเอง ฎีกาของจำเลยจึงเป็นความเข้าใจผิดของจำเลยเอง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญาประกันชีวิต เอกสารหมาย ป.จ.ล. 1 ไม่เป็นโมฆียะอันจำเลยจะบอกล้างได้ สัญญาดังกล่าวยังมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องจ่ายผลประโยชน์ให้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน