แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511มิใช่ความผิดอันยอมความได้ และเป็นความผิดอีกข้อหาหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานฉ้อโกง จะยกฟ้องข้อหาความผิดดังกล่าวด้วยเหตุขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เช่นเดียวกับความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 4, 7, 27 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343, 91 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 91 ข้อหาจัดหางานโดยรับค่าบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษจำคุก 1 เดือน ข้อหาฉ้อโกงประชาชนลงโทษจำคุก 3 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 3 ปี 1 เดือน ให้คืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งหกคนละ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา341, 343 โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ข้อหาในความผิดตามที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นอันยุติ โจทก์คงติดใจฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511เท่านั้น โจทก์ฎีกาว่า ข้อหาในความผิดตามที่กล่าวข้างต้นนั้น จำเลยกระทำเมื่อเดือนกรกฎาคม 2526 โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2527 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี คดีโจทก์ในข้อหาดังกล่าวยังไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหานี้เสียด้วยนั้นเป็นการคลาดเคลื่อน พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติ จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มิได้บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้ และมาตรา27 อันเป็นบทกำหนดโทษได้บัญญัติให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษดังกล่าวนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) บัญญัติให้มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2526 โจทก์ได้ฟ้องและได้ ตัวจำเลยมายังศาลเมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2527 จึงหาพ้นกำหนดหนึ่งปีไม่ ฟ้องโจทก์สำหรับข้อหานี้ จึงไม่ขาดอายุความ ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาต่อไป แต่ศาลอุทธรณ์หาได้วินิจฉัยไว้เป็นประการใดไม่ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องข้อหานี้ทันทีโดยอาศัยอายุความของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341อันเป็นข้อหาอีกข้อหาหนึ่งต่างหากจากกัน จึงเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนจริงตามโจทก์ฎีกา โดยที่โทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายมีเพียงหนึ่งเดือน ซึ่งคู่ความอาจถูกห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 และ 219 จึงเป็นการสมควรที่จะให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียชั้นหนึ่งก่อน ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่จะวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีเสียเองในชั้นนี้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะข้อหาตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี