แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ภายหลังจากจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมได้ฟ้องขับไล่จำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้วจำเลยยังตัดฟันต้นฝรั่งในที่ดินของโจทก์ร่วมอีก โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนเรียกจำเลยมาที่สถานีตำรวจโจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย แต่ต้องการให้จำเลยย้ายออกไปจากที่ดินซึ่งจำเลยก็รับว่าจะออกจากที่ดินภายในกำหนด 2 เดือน และรับว่าจะไม่เรียกร้องค่ารื้อถอนจากโจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยก็โดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด2 เดือน แต่จำเลยยังไม่ออกจากที่ดินของโจทก์ กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายเพราะโจทก์ร่วมมิได้ตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยตลอดไป แต่จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยต่อเมื่อจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด 2 เดือนดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำให้เสียทรัพย์ ทำลาย โดยใช้มีดฟันตัดต้นฝรั่งอายุประมาณต้นละ 8 ปี จำนวน 100 ต้น ราคาต้นละ 1,000 บาทรวมราคา 100,000 บาท อันเป็นพืชผลของนายบุญชู ทองมังกรและนายไมตรี กิจสวัสดิ์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นกสิกรทำสวน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย จำเลยโจทก์ร่วมอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า การที่โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันตามเอกสารหมาย จ.3หรือ จ.4 เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย อันมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ภายหลังจากจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวให้ออกไปจากที่ดินและโจทก์ร่วมได้ฟ้องขับไล่จำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยยังตัดฟันต้นฝรั่งในที่ดินของโจทก์ร่วมอีกโจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสามพรานว่า เมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2531 จำเลยได้ตัดฟันต้นฝรั่งที่ได้ปลูกขึ้นในที่ดินของโจทก์ร่วมประมาณ 100 ต้น พนักงานสอบสวนเรียกจำเลยมาที่สถานีตำรวจ โจทก์ร่วมและจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย แต่ต้องการให้จำเลยย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าวซึ่งจำเลยก็รับว่า จะออกจากที่ดินดังกล่าวภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2531เป็นต้นไป และรับว่าจะไม่เรียกร้องค่ารื้อถอนจากโจทก์ร่วมแต่อย่างใดปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 หรือล.4 นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยก็โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2531 แต่จำเลยยังไม่ออกจากที่ดินของโจทก์กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายเพราะโจทก์ร่วมมิได้ตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยตลอดไป แต่จะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยต่อเมื่อจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2531 ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน