คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอบรรยายว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าเป็นที่ดินของผู้คัดค้าน ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดี
การพิจารณาว่าประเด็นแห่งคดีมีหลายอย่าง ต้องพิจารณาข้ออ้างและข้อเถียง ทั้งจากคำฟ้องและคำให้การ แม้ผู้ร้องจะเริ่มคดีโดยทำเป็นคำร้องขอ แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ก็ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยคดี ไม่มีความจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อน เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ย่อมเพียงพอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีไปได้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและเอกสารในสำนวน
ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาให้กรมชลประทานผู้ร้องที่ 2 ใช้ร่วมกับคูคลองและลำห้วยซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่เดิม เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการของผู้คัดค้านและเพื่อประโยชน์ของราษฎรในบริเวณนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ประกอบกับการที่ผู้คัดค้านแจ้งแก่ผู้ร้องว่ายินดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง เป็นการยืนยันเจตนาว่าจะให้ใช้ที่ดินพิพาทเพื่อสาธารณประโยชน์ ถือว่าผู้คัดค้านมีเจตนาสละที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันที ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 ผู้คัดค้านไม่อาจยกเงื่อนไขที่ตนมีต่อผู้ร้องขึ้นอ้างเพื่อลบล้างสภาพที่ดินซึ่งตกเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งขณะนั้นเป็น รัฐวิสาหกิจขอให้รัฐบาลสั่งผู้ร้องที่ ๒ สำรวจและสร้างอ่างเก็บน้ำ ณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในกิจการของโรงงานน้ำตาลและเพื่อประโยชน์ของราษฎรในบริเวณนั้น โดยใช้งบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่งและบริษัทช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง บริษัทออกค่าใช้จ่ายและจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมจากที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งผู้ร้องที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์ รวม ๑๖ โฉนด คือ โฉนดเลขที่ ๑๐๘๘๑, ๑๐๘๘๓ ถึง ๑๐๘๘๖, ๑๐๘๘๙ ถึง ๑๐๘๙๐, ๑๐๘๙๒ ถึง ๑๐๘๙๔, ๑๐๘๙๗, ๑๐๘๙๙ ถึง ๑๐๙๐๑ และ ๑๐๙๐๔ ถึง ๑๐๙๐๕ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ผู้ร้องที่ ๒ ก่อสร้างเขื่อนดินและ อ่างเก็บน้ำเสร็จ ใช้ชื่อว่า อ่างเก็บน้ำบ้านบึง แล้วครอบครองดูแลบำรุงรักษา ควบคุมการใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน และต่อมาได้ประกาศให้อ่างเก็บน้ำบ้านบึงเป็นทางน้ำชลประทานประเภท ๔ แต่ที่ดินทั้งสิบหกโฉนดดังกล่าวยังมี ชื่อบริษัทถือกรรมสิทธิ์ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๖ บริษัทแสดงเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องที่ ๒ ที่ดินทั้งสิบหกโฉนด ดังกล่าวจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน ผู้ร้องที่ ๒ ได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแทนผู้ร้องที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศติดต่อกันตลอดมาเกินกว่า ๑๐ ปี ผู้ร้องที่ ๑ ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินทั้งสิบหกโฉนด ดังกล่าวในเขตอ่างเก็บน้ำบ้านบึง ตำบลคลองกิ่วอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ ๑ โดยเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทานของผู้ร้องที่ ๒
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านร่วมมือกับผู้ร้องที่ ๒ สร้างอ่างเก็บน้ำบ้านบึงโดยผู้คัดค้านซื้อที่ดิน ๑๖ โฉนด ลงทุนสำรวจและลงทุนสร้างอ่างเก็บน้ำ ส่วนผู้ร้องที่ ๒ เป็นเพียงรับดำเนินการ ผู้คัดค้านครอบครองและดูแลบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำอย่างสม่ำเสมอ และให้น้ำเพื่อใช้ในการเกษตรด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ ผู้คัดค้านเสนอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อ่างเก็บน้ำให้แก่ผู้ร้องที่ ๒ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ร้องที่ ๒ ต้องสำรองน้ำแก่โรงงานของผู้คัดค้านให้เพียงพอสำหรับใช้ผลิตน้ำตาลในแต่ละฤดูการผลิต แต่ผู้ร้องที่ ๒ มิได้สนองตอบเงื่อนไขของผู้คัดค้าน ต่อมามีการขายหุ้นของผู้คัดค้านแก่เอกชน ผู้ร้องที่ ๑ ประเมินราคาที่ดินทั้งสิบหกโฉนดรวมเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านด้วย แสดงว่ายอมรับว่าที่ดินทั้งสิบหกโฉนดเป็นของผู้คัดค้าน ผู้ร้องที่ ๒ ครอบครองดูแลที่ดินทั้งสิบหกโฉนดแทนผู้คัดค้านเท่านั้น ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๘๘๑, ๑๐๘๘๓ ถึง ๑๐๘๘๖, ๑๐๘๘๙ ถึง ๑๐๘๙๐, ๑๐๘๙๒ ถึง ๑๐๘๙๔, ๑๐๘๙๗, ๑๐๘๙๙ ถึง ๑๐๙๐๑ และ ๑๐๙๐๔ ถึง ๑๐๙๐๕ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี รวม ๑๖ โฉนด เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ ๑ โดยเป็นที่ราชพัสดุประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ การชลประทานของผู้ร้องที่ ๒
ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสองประการแรกว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ ปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้คัดค้านช่วยออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งและซื้อที่ดินพิพาทเพื่อใช้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านบึง เมื่อก่อสร้างเสร็จบรรดาผู้ใช้น้ำได้ขออนุญาตใช้น้ำและเสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ร้องที่ ๒ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๙ มีประกาศให้อ่างเก็บน้ำบ้านบึงเป็นทางน้ำชลประทานประเภท ๔ และผู้คัดค้านได้แสดงเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ ๒ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใช้ประโยชน์เพื่อการชลประทาน ส่วนผู้คัดค้านก็ยื่นคำคัดค้านยอมรับว่าเคยเสนอจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องที่ ๒ แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้ร้องที่ ๒ ต้องสำรองน้ำให้เพียงพอจ่ายแก่โรงงานของผู้คัดค้านเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาล แต่ผู้ร้องที่ ๒ มิได้สนองตอบเงื่อนไข ทั้งเมื่อมีการขายหุ้นของผู้คัดค้านแก่เอกชน ผู้ร้องที่ ๑ ก็ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน เป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้าน เห็นว่า เมื่อคำร้องขอบรรยายว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าเป็นที่ดินของผู้คัดค้าน ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอีกทั้งในการพิจารณาว่าประเด็นแห่งคดีมีอย่างไรบ้าง ต้องพิจารณาข้ออ้างและข้อเถียงทั้งจากคำฟ้องและคำให้การมิใช่พิจารณาเพียงว่ามีการเริ่มต้นคดีด้วยการทำเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอ ซึ่งในคดีนี้ แม้ผู้ร้องทั้งสองจะเริ่มต้นคดีโดยทำเป็น คำร้องขอ มีลักษณะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ก็ต้องดำเนินคดีต่อไปอย่างคดีมีข้อพิพาท อีกประการหนึ่งแม้ตามคำร้องขอจะบรรยายว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการกล่าวถึงลักษณะของที่ดิน ส่วนข้อที่ว่าผู้ร้องที่ ๒ ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทแทนผู้ร้องที่ ๑ ก็เพื่อแสดงว่าผู้ร้องที่ ๑ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาอย่างไรอีกด้วย จึงไม่ขัดแย้งกัน ประกอบกับในคดีแพ่งแม้คู่ความจะมิได้อ้างหรืออ้างบทกฎหมาย ไม่ถูกต้อง ศาลก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ และในคดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาท ฉะนั้นคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาประการที่สองมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีในประเด็นว่าผู้ร้องที่ ๑ ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปกปักษ์โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก่อนชอบหรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๐ บัญญัติว่า “ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมา…” เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ประกอบกับศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยสืบพยานผู้ร้องทั้งสองและ ผู้คัดค้านมาจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว เพียงพอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีไปได้โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ในสำนวน กรณีไม่มีความจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีในประเด็นนี้ก่อน ดังผู้ร้องทั้งสองอ้าง คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและผู้ร้องที่ ๑ ได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ เห็นว่า ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาให้ผู้ร้องที่ ๒ ใช้ร่วมกับคูคลองและลำห้วยซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่เดิมเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจการของผู้คัดค้านและเพื่อประโยชน์ของราษฎรในบริเวณนั้น เมื่อก่อสร้างเสร็จบรรดาผู้ใช้น้ำก็ขออนุญาตใช้น้ำและมีประกาศของทางราชการให้อ่างเก็บน้ำดังกล่าวเป็นทางน้ำชลประทานประเภท ๔ ตาม พ.ร.บ. การชลประทานหลวง พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๔ โดยเป็นทางน้ำอันเป็นอุปกรณ์ของการชลประทาน และ บทนิยามคำว่า การชลประทาน หมายความว่า “กิจการที่กรมชลประทานจัดทำขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำ…” และผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีทั้งส่วนราชการ โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรและเอกชนทั่วไป จึงมีลักษณะเป็นการใช้ เพื่อสาธารณประโยชน์ ประกอบกับการที่ผู้คัดค้านแจ้งแก่ผู้ร้องที่ ๒ ว่ายินดีโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องที่ ๑ เป็นการยืนยันเจตนาว่าจะให้ใช้ที่ดินพิพาทเพื่อสาธารณประโยชน์ ถือได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาสละที่ดินพิพาทให้เป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การแสดงเจตนาย่อมมีผลทันที ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจยกเงื่อนไขที่ตนมีต่อผู้ร้องที่ ๒ ขึ้นอ้างเพื่อลบล้างสภาพของที่ดินซึ่งตกเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกทั้งทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๕ การที่ผู้ร้องที่ ๑ ประเมินราคาที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านจึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และไม่มีผลกระทบถึงที่ดินพิพาทซึ่งตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์แล้ว ข้ออ้างของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องที่ ๑ ฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องทั้งสองนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสอง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share