คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9513/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ โดยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงที่มีรูปทรง สัณฐาน ขนาดและสีอันเป็นการใช้การประดิษฐ์ที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ และในคดีหมายเลขดำที่ ทป. 120/2548 มีข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยผลิต ขาย และเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ลูกบอลดับเพลิง โดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18966 ของโจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 และคดีหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ข้างต้นมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์คนละสิทธิแตกต่างกัน มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องย่อมแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ชอบที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสอง
ปัญหาว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการใช้นามหรือชื่อของบุคคลนั้น แม้บุคคลอื่นอาจใช้ชื่อคล้ายกันได้ก็ตามแต่ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ใช้อยู่ก่อนต้องเสื่อมเสียประโยชน์โดยมิชอบโดยไม่ได้รับความยินยอม มิฉะนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการใช้ชื่อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420 หรือ 421 และกรณีผู้มีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มีลักษณะอันควรอนุโลมใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชื่อทางการค้าด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อปี 2542 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. และโจทก์ได้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงโดยเฉพาะลูกบอลดับเพลิง ซึ่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีการดำเนินการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จนได้รับสิทธิบัตรโดยให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งโจทก์ได้ใช้ชื่อดังกล่าวประกอบกิจการดังกล่าวและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรูปประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าชื่อดังกล่าวมีลักษณะเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในภายหลังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งนอกจากจะคล้ายกับชื่อทางการค้าของโจทก์แล้วยังได้นำคำที่เป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าของโจทก์คือคำว่าสยามเซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY มาใช้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบริษัทจำเลย การใช้คำที่เป็นส่วนสำคัญของชื่อทางการค้าของโจทก์เช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่จะซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ โดยแม้ชื่อของโจทก์จะมีคำว่า “พรีเมียร์” ต่อท้ายคำดังกล่าวและชื่อของจำเลยจะมีคำว่า “เทคโนโลยี” ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ไม่มีลักษณะเด่นที่มีความสำคัญสำหรับสังเกตจดจำได้ดังเช่นคำว่า สยาม เซพตี้ หรือแม้ผู้ซื้อจะสังเกตโดยละเอียดเห็นความแตกต่างดังกล่าวได้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงถือได้ว่าจำเลยใช้คำว่า สยามเซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์ และจำเลยยังใช้ชื่อเช่นนี้ในการประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีโอกาสทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าของตนได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจนเกิดมีคดีพิพาทในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กันมาแล้ว หากปรากฏว่าทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการของโจทก์ก็ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์
แม้จำเลยจะทำกล่องบรรจุสินค้าให้มีสีแตกต่างกับของโจทก์และมีการพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยรวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อบริษัทจำเลยหรือสำนักงานของจำเลยอยู่ห่างจากโจทก์มากก็ตาม แต่ลักษณะการขายสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นไปในลักษณะกระจายการขายไปทั่วประเทศ เมื่อมีชื่อในส่วนสำคัญเหมือนกันก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดได้อยู่นั่นเอง จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่า การที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวในการประกอบกิจการของจำเลยเช่นนี้ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และ 421 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อโดยละเมิดต่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
การที่จำเลยนำคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์มาใช้อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ด้วยเหตุที่การใช้ชื่อนั้นทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ซึ่งเมื่อจำเลยใช้ชื่อจนทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวซึ่งมีการใช้และการเสียหายเกิดขึ้นตลอดเวลาที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าดังนั้น ตราบที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์อยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดเวลาเรื่อยมา มิใช่เป็นการละเมิดครั้งเดียวในวันที่จำเลยใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด และ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ในภาษาอังกฤษ หรือมิให้มีคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อยู่ในชื่อของจำเลย และห้ามใช้คำว่า SST (อ่านว่า เอสเอสที) ให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัท โดยมิให้ใช้คำว่า สยาม เซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY อีกต่อไป หากไม่ดำเนินการ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพิกถอนการจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลย โดยมิให้มีคำว่า สยาม เซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะระงับการกระทำละเมิดโดยการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ชดใช้เงินแก่จำเลยจนถึงวันฟ้องแย้ง เป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท และค่าเสียหายอัตราเดือนละ 1,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง ให้คืนค่าขึ้นศาลสำหรับฟ้องแย้งทั้งหมดแก่จำเลย
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. หรือมิให้มีคำว่า สยาม เซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY อยู่ในชื่อของจำเลยอีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นให้ยก ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติ โจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในปี 2542 ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิง นายภณวัชร์นันท์ ชื่อเดิมว่านายวรเดช เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน นายภณวัชร์นันท์เป็นผู้ประดิษฐ์ลูกบอลดับเพลิง และได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากนั้นนายภณวัชร์นันท์ได้โอนสิทธิตามคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวให้แก่โจทก์ และนายภณวัชร์นันท์ได้ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกาด้วย ปี 2544 ถึง 2545 โจทก์ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับโลกหลายรางวัลทั้งจากองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศและผลงานของโจทก์ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสารต่างๆ หลายฉบับ โจทก์ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ลูกบอลดับเพลิงนี้จากสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา และได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ ทะเบียนเลขที่ บ 21871 ในลักษณะรูปและคำ โดยมีรูปประดิษฐ์และอักษรโรมันคำว่า SSP และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค 225237 โดยมีรูปประดิษฐ์และอักษรโรมันคำว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. ทั้งโจทก์ยังได้รับรางวัลเกียรติยศต่าง ๆ เรื่อยมา ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยมีนายศักดาพินิจ ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และประกอบกิจการเช่นเดียวกับโจทก์ และใช้ชื่อบริษัทจำเลยดังกล่าวในการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ตลอดมาจนปัจจุบัน โจทก์เคยฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ทป.79/2547 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรก การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ทป.79/2547 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ทป. 120/2548 ตามลำดับหรือไม่ เห็นว่า ในคดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ทป.79/2547 มีประเด็นที่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยกับพวกละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์โดยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงที่มีรูปทรง สัณฐาน ขนาดและสี อันเป็นการใช้การประดิษฐ์ที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ และในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 มีข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยผลิต ขาย และเสนอขายผลิตภัณฑ์ลูกบอลดับเพลิงโดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18966 ของโจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ทป.79/2547 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์คนละสิทธิแตกต่างกัน มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องย่อมแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ชอบที่โจทก์จะให้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีกันได้ ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ทป.79/2547 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ตามลำดับนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำว่า สยาม เซพตี้ หรือSIAM SAFETY ไม่ใช่ชื่อเฉพาะที่โจทก์คิดค้นขึ้น แต่เป็นคำธรรมดาทั่วไปที่สาธารณชนรวมทั้งจำเลยชอบที่จะใช้ได้ และชื่อเต็มของจำเลยแตกต่างจากชื่อโจทก์ไม่อาจพิจารณาเฉพาะคำเพียงบางส่วนว่า สยาม เซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY ว่าซ้ำกันได้ นอกจากนี้โจทก์ยังได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ทางการค้ากับจำเลย โจทก์ย่อมทราบเรื่องชื่อบริษัทจำเลย แต่โจทก์มิได้ห้ามจำเลยใช้ชื่อดังกล่าว จนกระทั่งมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แสดงให้เห็นว่าโจทก์รู้และยินยอมให้จำเลยใช้ชื่อของจำเลยได้โดยปริยายแล้ว เมื่อโจทก์ยินยอมเช่นนี้ การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า สิทธิในการใช้นามหรือชื่อของบุคคลนั้น แม้บุคคลอื่นอาจใช้ชื่อคล้ายกันได้ก็ตามแต่ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ใช้อยู่ก่อนต้องเสื่อมเสียประโยชน์โดยมิชอบโดยไม่ได้รับความยินยอม มิฉะนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการใช้ชื่อได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และ 420 หรือ 421 และกรณีผู้มีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มีลักษณะอันควรอนุโลมใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชื่อทางการค้าด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อปี 2542 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. และโจทก์ได้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงโดยเฉพาะลูกบอลดับเพลิง ซึ่งนายภณวัชร์นันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีการดำเนินการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จนได้รับสิทธิบัตรโดยให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรทั้งในประเทศไทยและในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งโจทก์ได้ใช้ชื่อดังกล่าวข้างต้นในการประกอบกิจการค้าและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรูปประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าชื่อดังกล่าวมีลักษณะอันถือได้ว่าเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในภายหลังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อว่าบริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งนอกจากจะคล้ายกับชื่อทางการค้าของโจทก์คือคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY มาใช้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบริษัทจำเลย โดยการใช้คำที่เป็นส่วนสำคัญของชื่อทางการค้าของโจทก์เช่นนี้ย่อมอาจทำให้ผู้ที่จะซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ โดยแม้ชื่อของโจทก์จะมีคำว่า “พรีเมียร์” ต่อท้ายคำดังกล่าวและชื่อของจำเลยจะมีคำว่า “เทคโนโลยี” ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ไม่มีลักษณะเด่นที่มีความสำคัญสำหรับสังเกตจดจำได้ดังเช่นคำว่า สยาม เซพตี้ หรือแม้ผู้ซื้อจะสังเกตโดยละเอียดเห็นความแตกต่างดังกล่าวได้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงถือได้ว่าจำเลยใช้คำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์ และจำเลยยังใช้ชื่อเช่นนี้ในการประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีโอกาสทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าของตนได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจนเกิดมีคดีพิพาทในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กันมาแล้ว หากปรากฏว่าทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการของโจทก์ก็ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ แม้จำเลยจะทำกล่องบรรจุสินค้าให้มีสีแตกต่างกับของโจทก์และมีการพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยรวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อบริษัทจำเลยหรือสำนักงานของจำเลยอยู่ห่างจากโจทก์มากก็ตาม แต่ลักษณะการขายสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นไปในลักษณะกระจายการขายไปทั่วประเทศ เมื่อมีชื่อในส่วนสำคัญเหมือนกันก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดได้อยู่นั่นเอง จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่าการที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวในการประกอบกิจการของจำเลยเช่นนี้ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และ 421 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อโดยละเมิดต่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งจำเลยอุทธรณ์เพียงว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทโดยใช้ชื่อดังกล่าว และต่อมาโจทก์กับจำเลยก็มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมค้าขายกัน โจทก์ย่อมรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดแล้ว อายุความย่อมเริ่มนับแต่นั้น ส่วนการใช้ชื่อต่อมาก็เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องเท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงขาดอายุความ 1 ปี เห็นว่า การที่จำเลยนำคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์มาใช้อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ด้วยเหตุที่การใช้ชื่อนั้นทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ เมื่อจำเลยใช้ชื่อจนทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวซึ่งมีการใช้และความเสียหายเกิดขึ้นตลอดเวลาที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าดังนั้น ตราบที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์อยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดเวลาเรื่อยมา มิใช่เป็นการละเมิดครั้งเดียวในวันที่จำเลยใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาว่า โจทก์เสียหายเพียงใดหรือไม่นั้น จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ การฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ทป.79/2547 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 จำเลยจึงไม่ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหายเท่านั้น เมื่อวินิจฉัยว่าข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยล้วนฟังไม่ขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้และกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลย ทั้งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย และไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยตามฟ้องแย้ง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เมื่อฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้า คำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องแย้งของจำเลยได้ และพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเฉพาะในส่วนที่ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share