คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7198/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ย่อมต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตามหนังสือรับช่วงสิทธิที่ผู้เอาประกันภัยออกให้แก่โจทก์มีข้อความว่า ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ และตกลงโอนสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากความเสียหายและสูญหายของสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าเสียหายจากความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่รับประกันภัยไว้โดยผลของกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องหรือไม่ นั้น ในส่วนของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าเกษตรกรรม ทั้งคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับขนของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ นอกจากเอกสารซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่ง ประเภทรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ท. ผู้จัดการของจำเลยที่ 2 พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความรับว่า รับขนสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้รับการติดต่อจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับขนส่งสินค้าตามฟ้องให้ไปร่วมขนส่งสินค้า แต่ ท. อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีรถไปบรรทุกสินค้าจึงสอบถาม อ. โดย อ.ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อ. จึงไปติดต่อนำรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 มารับขนสินค้า คนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับการรับขนสินค้าตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เองว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งเหตุแล้วได้นำรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งมาแบ่งขนสินค้าไปส่งยังคลังสินค้าของผู้เอาประกันภัย ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการขนส่งสินค้ารายนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรับผิดชอบจัดหารถไปช่วยขนสินค้าไปยังที่หมายปลายทางตามสัญญาว่าจ้าง ทั้ง ท. เบิกความรับว่า หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยร่วมได้ชำระค่าว่าจ้างขนส่งให้แก่จำเลยที่ 2 อีกด้วย จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งเพื่อทางการค้าเป็นปกติ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าที่รับขนเกิดความเสียหายสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายหรือสูญหายดังกล่าว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมอย่างลูกหนี้ร่วมจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ทั้งที่โจทก์ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 613,774.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 504,821.40 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทคลองสี่ชิปปิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงินจำนวน 504,821.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยที่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 108,953 บาท ให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงกันรับฟังได้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 5609 สระแก้ว คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าเพื่อบำเหน็จทางการค้าตามปกติ บริษัทคีชิโมโต้ ซังกิโย (ไทยแลนด์) จำกัด ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทกาวพลาสติกจากบริษัทโซนี เคมิคอล สิงคโปร์ พีทีอี จำกัด ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 316 ถัง น้ำหนักถังละ 18 กิโลกรัม ราคาถังละ 184.99 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 300 ถัง และน้ำหนักถังละ 15 กิโลกรัม ราคาถังละ 105 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 16 ถัง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 57,177 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาโจทก์ได้รับประกันภัยการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากบริษัทคีชิโมโต้ ซังกิโย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ซื้อ เพื่อความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าในระหว่างการขนส่งในวงเงิน 2,784,074 บาท โดยคุ้มครองการขนส่งจากเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น มายังคลังสินค้าของผู้ซื้อหรือสถานที่ที่ผู้ซื้อเช่า สินค้าได้ขนส่งโดยเรือชื่อซูไมร์ จากประเทศญี่ปุ่นและมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง สินค้าได้ถูกขนส่งต่อไปยังด่านศุลกากรรถไฟลาดกระบัง ต่อมาผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยร่วมดำเนินการพิธีการศุลกากร ชำระภาษีศุลกากร และขนส่งสินค้าต่อไปยังคลังสินค้าของบริษัทบางปู อินเตอร์โมดัล ซิสเต็มส์ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยร่วมได้ติดต่อจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินการขนส่ง ต่อมาได้มีการขนส่งสินค้าโดยใช้รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 5609 สระแก้ว ของจำเลยที่ 1 ในการขนส่ง ระหว่างการขนส่งสินค้าถังกาวพลาสติกที่บรรทุกอยู่บนรถยนต์คันเกิดเหตุหลายถังตกจากรถทำให้ถังกาวพลาสติก บุบ แตกสินค้ารั่วไหลออกมา สินค้าได้รับความเสียหายจำนวน 173 ถัง มีการขายซากสินค้าที่เสียหายไปเพื่อบรรเทาความเสียหาย โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 504,821.40 บาท แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว
มีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นข้อแรก โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่เป็นบริษัท โตคิโอะ แมนเนจเมนท์ เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด เป็นผู้ชำระ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ย่อมต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามหนังสือรับช่วงสิทธิที่ผู้เอาประกันภัยออกให้แก่โจทก์มีข้อความว่า ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เป็นจำนวน 504,821.40 บาท เนื่องจากสินค้าเสียหายจากการที่รถบรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 5609 สระแก้ว ลื่นไหลบนไหล่ทาง และตกลงโอนสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการเสียหายและสูญหายของสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ ย่อมฟังได้แล้วว่าโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าเสียหายจากความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่รับประกันภัยไว้โดยผลของกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ คำแก้อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อต่อมาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับค้าขายสินค้าเกษตรกรรม ทั้งคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับขนของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของจำเลยที่ 1 นอกจากเอกสารซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่ง ประเภทรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น นายทรงพลผู้จัดการของจำเลยที่ 2 พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความรับว่า การรับขนสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้รับการติดต่อจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับขนส่งสินค้าตามฟ้องให้ไปร่วมขนส่งสินค้า แต่นายทรงพลอ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีรถไปบรรทุกสินค้าจึงสอบถามนายอาคม นายอาคมไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นายอาคมจึงไปติดต่อนำรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 มารับขนสินค้า นายเนตรคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับขนสินค้าตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เองว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งเหตุแล้วได้นำรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งมาแบ่งขนสินค้าไปส่งยังบริษัทบางปู อินเตอร์โมดัล ซิสเต็มส์ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการขนส่งสินค้ารายนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรับผิดชอบจัดหารถไปช่วยขนสินค้าไปยังที่หมายปลายทางตามสัญญาว่าจ้างทั้งนายทรงพลเบิกความรับว่า หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยร่วมได้ชำระค่าว่าจ้างขนส่งให้แก่จำเลยที่ 2 อีกด้วย จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งเพื่อทางการค้าเป็นปกติ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าที่รับขนเกิดความเสียหายสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายหรือสูญหาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
มีปัญหาวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นข้อสุดท้ายว่า สินค้าที่จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมรับขนส่งได้รับความเสียหายเพียงใด เห็นว่า ตามรายงานการสำรวจความเสียหายของสินค้าของบริษัทแอสโซชิเอทมารีน เซอร์เวย์เยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ทำการสำรวจสินค้าที่คลังสินค้าของบริษัทบางปู อินเตอร์โมดัล ซิสเต็มส์ จำกัด พบว่า สินค้ามีลักษณะถังบุบ บิดเบี้ยว และแตกตามตะเข็บทำให้วัตถุภายในรั่วออกมาจำนวนถึง 299 ถัง จากจำนวน 300 ถัง ส่วนที่คลังสินค้าของผู้เอาประกันภัยมีจำนวน 16 ถัง ซึ่ง 2 ถัง มีสภาพบุบและบิดเบี้ยว แสดงว่า สินค้ากาวพลาสติกที่บรรจุอยู่ในถังดีบุก จำนวน 316 ถัง ที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมรับขนส่งได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด คงสภาพเดิมเพียงประมาณ 15 ถัง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุลื่นไถลลงไหล่ถนน ทำให้สินค้าที่บรรทุกอยู่บนรถเกือบทั้งหมดตกจากรถได้รับความเสียหาย ดังนั้น ตามรายงานการสำรวจความเสียหาย ที่สรุปความเสียหายของสินค้าทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 504,821.40 บาท แม้จะได้กระทำการสำรวจภายหลังเกิดเหตุแล้วกว่า 1 เดือน เมื่อฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบว่า หลังเกิดเหตุแล้ว ขณะที่สินค้าอยู่ในความดูแลของบริษัทบางปู อินเตอร์โมดัล ซิสเต็มส์ จำกัด มีเหตุทำให้เกิดความเสียหายของสินค้าขึ้นอีก หรือระยะเวลาที่นานขึ้นทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า สินค้าตามฟ้องเกิดความเสียหายและสูญหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมเป็นเงิน 504,821.40 บาท ส่วนเงินค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าที่เสียหายบรรจุลงในถังสินค้าใหม่จำนวน 27,275 บาท ซึ่งโจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยร่วมไปนั้นเป็นค่าจ้างในการทำงาน ถือเป็นเรื่องว่าจ้างทำการงานตามปกติ ทั้งโจทก์มิได้นำมาเรียกร้องในคดีนี้จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธของโจทก์แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวน 504,821.40 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของสินค้า โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมรับผิดชอบได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมอย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ทั้ง ๆ ที่โจทก์ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินให้โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 504,821.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 108,953 บาท ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share