คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951-952/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอทำลายพินัยกรรม อ้างว่าปลอมหรือทำโดยสำคัญผิดจำเลยให้การว่า เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ โจทก์ขอแก้ฟ้องยืนยันว่าเป็นพินัยกรรมปลอมอย่างเดียว จำเลยไม่ให้การอย่างไรอีก ดังนี้จะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ถนัด เพราะจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ไว้ในชั้นแรกแล้ว
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ขอให้ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดใน 15 วัน ศาลไม่สั่งจำหน่ายคดีก็ได้
ฟ้องบรรยายข้อเท็จจริงมาโดยละเอียด แล้วลงท้ายว่าผู้ตายไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือในพินัยกรรมหรือจำเลยแอบกดลายนิ้วมือผู้ตายลงโดยผู้ตายไม่รู้ตัวขอให้แสดงว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะเป็นที่เข้าใจว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
ทายาทโดยธรรม ฟ้องขอให้ทำลายพินัยกรรมได้แม้จะมีพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งซึ่งโจทก์ไม่มีส่วนได้รับมรดกเลยก็ตาม

ย่อยาว

สำนวนแรกนางสำเนียง โจทก์ฟ้องและขอแก้ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาพระพิภัชภูมิภาค (สม บุนนาค) โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2494 พระพิภัชภูมิภาควายชนม์ ก่อนวายชนม์พระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2492 ยกทรัพย์สินให้แก่โจทก์และบุตรซึ่งเกิดกับโจทก์และบุตรที่เกิดกับภรรยาอื่น โดยตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามสำเนาพินัยกรรมท้ายฟ้อง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2494 ภายหลังที่พระพิภัชฯ วายชนม์แล้วมีการเปิดพินัยกรรมดังกล่าวออกอ่านต่อหน้าบรรดาญาติและมิตร ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ต่อมาโจทก์ได้จัดการศพพระพิภัชฯ ตามคำสั่งในพินัยกรรมและได้จัดการฌาปนกิจแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2494 เรียบร้อยแล้ว

ครั้นวันที่ 18 มิถุนายน 2494 ซึ่งโจทก์ยังมิได้ลงมือจัดการมรดกตามพินัยกรรม จำเลยทั้งสองได้ไปยื่นคำร้องขอประกาศรับมรดกของพระพิภัชฯ ที่หอทะเบียนที่ดิน โดยอ้างว่า พระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 ที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งให้จำเลยทั้งสองกับร้อยเอกประยูร บุนนาค บุตรคนโตของพระพิภัชฯ เป็นผู้จัดการมรดก

ต่อมาในวันนั้นเอง นายอดุลย์ สิงหเนตร ทนายความได้มีหนังสือนัดโจทก์และร้อยเอกประยูร บุนนาค ไปฟังการอ่านพินัยกรรมของพระพิภัชฯ ซึ่งมีความปรากฏว่าทำที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 โดยให้จำเลยทั้งสองกับร้อยเอกประยูร บุนนาค เป็นผู้จัดการมรดก ส่วนทรัพย์สินที่ยกให้แก่ทายาทคนใดนั้นก็เปลี่ยนแปลงไม่ตรงกับพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 ซึ่งความจริงในวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 พระพิภัชฯ มิได้ทำพินัยกรรมพินัยกรรมที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ใช่พินัยกรรมของพระพิภัชฯ อันแท้จริงลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของพระพิภัชฯ จึงขอให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 และแสดงว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 เป็นพินัยกรรมที่แท้จริงและชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยทั้งสองให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า ได้ไปประกาศขอรับมรดกที่หอทะเบียนที่ดินเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2494 จริงแต่ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ใช่ภรรยาพระพิภัชฯ โดยชอบด้วยกฎหมาย พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 พระพิภัชฯ ไม่ได้ทำลายมือชื่อพระพิภัชฯ ในพินัยกรรมดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อพระพิภัชฯ หากใช่ก็ทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และหากเป็นพินัยกรรมสมบูรณ์ก็ใช้ไม่ได้ โดยถูกลบล้างตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 อันเป็นฉบับที่ถูกต้องแท้จริง

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2494 จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่รู้เห็นในการอ่านพินัยกรรม ต่อมาก็ไม่เคยรับรองพินัยกรรมที่โจทก์กล่าวอ้างความจริงจำเลยที่ 2 ได้คัดค้านพินัยกรรมฉบับนั้นขณะที่ได้มีการอ่านแล้ว การฌาปนกิจศพพระพิภัชฯ โจทก์ไม่ได้ทำแต่ลำพัง บรรดาทายาทได้ร่วมจัดการด้วย ร้อยเอกประยูร บุนนาค กับโจทก์ได้ทราบถึงพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 ตลอดแล้ว แม้พระพิภัชฯจะได้ทำพินัยกรรมนั้นจริงก็โดยสำคัญผิดถึงขนาดไม่ชอบด้วยความเป็นธรรม

สำนวนที่สอง นางสาวอนงค์ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพระพิภัชฯ อันเกิดแต่นางเลื่อนภรรยาหลวง ซึ่งวายชนม์ไปนานแล้ว ส่วนพระพิภัชฯ วายชนม์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2494 ทั้งโจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของพระพิภัชฯ

ในวันที่พระพิภัชฯ วายชนม์ โจทก์ได้สอบถามนายอดุลย์ สิงหเนตรทนายความผู้เคยติดต่อกับพระพิภัชฯ ว่าพระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมไว้บ้างหรือเปล่า นายอดุลย์ สิงหเนตร ตอบว่า ไม่เคยทราบว่าพระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมไว้เลย

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2494 อันเป็นเวลาภายหลังที่พระพิภัชฯ วายชนม์แล้ว 1 วัน นางสำเนียง บุนนาค ได้แจ้งแก่บรรดาทายาทของพระพิภัชฯ ซึ่งมีโจทก์และจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยว่า พระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 ไว้ให้นางสำเนียง บุนนาค เป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่ให้ทายาทอื่นเข้าเกี่ยวข้องด้วย จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งว่า พระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมฉบับอื่นภายหลังครั้นวันที่ 18 มิถุนายน 2494 นายอดุลย์ สิงหเนตร ทนายความโดยคำสั่งหรือคำยินยอมของจำเลยทั้งสองได้แสดงพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 ของพระพิภัชฯ แก่บรรดาทายาท ซึ่งพินัยกรรมฉบับนั้นได้ระบุยกทรัพย์สินให้แก่บุตรคนอื่น ๆ โดยโจทก์ไม่มีส่วนได้รับด้วยเลย ทั้งยังได้กำหนดให้เอาทรัพย์สินซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ไปยกให้แก่จำเลยทั้งสอง และระบุให้ร้อยเอกประยูร บุนนาค กับจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกด้วย พินัยกรรมฉบับที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 ทั้งวันหลังจากนำพระพิภัชฯ ไปส่งโรงพยาบาลศิริราชแล้ว พระพิภัชฯ มีอาการป่วยหนักมาก ไม่มีสติพอที่จะทำพินัยกรรมได้ทั้งเป็นวันแรกที่นำส่งโรงพยาบาล เป็นการฉุกละหุกไม่มีเวลาพอที่จะให้พระพิภัชฯ ทำพินัยกรรมได้ นอกจากนั้นโจทก์ได้ควบคุมดูแลอาการของพระพิภัชฯ อยู่ที่โรงพยาบาลตลอดวันตลอดคืน หากทำพินัยกรรมจริงโจทก์ต้องรู้เห็นด้วย

พระพิภัชฯ เซ็นชื่อได้ แต่ในพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ หาได้เซ็นชื่ออย่างที่เคยปฏิบัติไม่ ลายพิมพ์นิ้วมือนั้นเป็นลายพิมพ์นิ้วมือปลอม หรือมิฉะนั้นก็เกิดขึ้นโดยจำเลยหรือพวกของจำเลยแอบลักลอบจับมือพระพิภัชฯ พิมพ์ในวันอื่นซึ่งไม่ใช่ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 และพิมพ์ในเวลาที่พระพิภัชฯ หลับสนิทหรืออาการเจ็บมากไม่มีสติ ไม่รู้สึกตัวโดยไม่มีเจตนาอันแท้จริงที่จะทำพินัยกรรมให้มีข้อความเช่นนั้น จึงขอให้แสดงว่า พินัยกรรมของพระพิภัชฯ ฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 เป็นโมฆะ ห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสองเข้าจัดการหรือเกี่ยวข้องกับกองทรัพย์มรดกของพระพิภัชฯ หากจำเลยทั้งสองเข้าจัดการทรัพย์มรดกของพระพิภัชฯ เท่าที่จำเป็นก็ต้องให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมเข้าร่วมจัดการด้วย

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรพระพิภัชฯ โจทก์ไปหานายอดุลย์ สิงหเนตร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2494 หรือไม่ไม่ทราบแม้จะไปหาจริง ข้อความที่โต้ตอบกันอย่างไร จำเลยไม่ทราบและไม่เป็นดังที่โจทก์อ้าง

นางสำเนียง บุนนาค ไม่เคยกล่าวถ้อยคำเช่นนั้นแก่บรรดาทายาทโจทก์เองเป็นผู้จัดให้มีการอ่านพินัยกรรม และชักชวนให้บรรดาทายาทมาฟังการอ่านพินัยกรรมในวันที่ 5 มิถุนายน 2494 ก่อนหน้าพระราชทานน้ำอาบศพ อันเป็นเวลาไม่สมควร จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ขณะนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ฟังการอ่านและได้คัดค้านพินัยกรรมฉบับนั้นว่า ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่รับรอง แม้จำเลยที่ 2 จะไม่กล่าวในขณะนั้นว่ายังมีพินัยกรรมฉบับหลัง ก็ไม่ทำให้ผลในทางกฎหมายเสียไป และในวันที่ 5 มิถุนายน 2494 หลังจากได้พระราชทานอาบน้ำศพแล้ว จำเลยทั้งสองได้บอกแก่บรรดาทายาทของพระพิภัชฯ ว่ายังมีพินัยกรรมฉบับสุดท้าย โจทก์และบรรดาทายาทอื่น ๆ ของพระพิภัชฯ ต้องการให้อ่านพินัยกรรมฉบับสุดท้าย แต่จำเลยเห็นว่า ไม่เป็นการงดงามแก่ศพพระพิภัชฯ ทั้งนายอดุลย์ สิงหเนตร ทนายความผู้ถือพินัยกรรมไปว่าความจังหวัดเชียงใหม่ และได้เกิดความจำเป็นที่จะต้องรีบปลงศพพระพิภัชฯ ให้เสร็จสิ้นไป ดังนั้น เมื่อได้จัดการพระราชทานเพลิงศพเรียบร้อย และผู้ถือพินัยกรรมกลับจากต่างจังหวัดแล้ว บรรดาทายาทจึงได้ขอร้องให้นายอดุลย์ สิงหเนตร อ่านพินัยกรรมในวันที่ 18 มิถุนายน 2494 เมื่ออ่านจบแล้ว โจทก์หรือผู้หนึ่งผู้ใดไม่ได้คัดค้านเลย ทั้งโจทก์และบรรดาทายาททุกคนก็ได้รับทรัพย์ทั่วกันไม่มีข้อกำหนดในพินัยกรรมเลยว่าให้เอาทรัพย์สินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ได้รับไปจากพระพิภัชฯ แล้วมาแบ่งให้จำเลยดังโจทก์อ้าง

พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 พระพิภัชฯ ได้ทำขึ้นด้วยเจตนาอันแท้จริงและถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีเหตุผลพอที่จะทำลายพินัยกรรมดังกล่าวได้ เพราะพระพิภัชฯ มีสติดี และมีเวลาพอที่จะทำพินัยกรรมได้ ที่โจทก์อ้างว่า ได้ควบคุมอาการอยู่ตลอดวันตลอดคืนนั้นไม่จริง จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการนำพระพิภัชฯ ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นเจ้าของไข้ตลอดเวลาจนรับศพกลับบ้าน

ปกติพระพิภัชฯ เซ็นชื่อได้จริง แต่ก็ได้มีเหตุอื่นที่เซ็นชื่อไม่ได้จนต้องใช้พิมพ์ลายนิ้วมือแทน โจทก์รู้ดีว่า พินัยกรรมของพระพิภัชฯ อยู่ที่นายอดุลย์ สิงหเนตร แต่ได้จัดการให้มีการอ่านพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 อันเป็นฉบับที่ไม่ถูกต้องโดยเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนได้ตามพินัยกรรมฉบับนั้นด้วย

จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของพระพิภัชฯ และเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ ทั้งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับสุดท้ายโจทก์ได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์ไปจากพระพิภัชฯ แล้วตั้งแต่พระพิภัชฯ ยังมีชีวิตอยู่ ตามพินัยกรรมทั้งสองฉบับไม่ยอมให้โจทก์เข้าจัดการทรัพย์เลย กับคัดค้านว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีสองสำนวนนี้รวมกันแล้ว เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และไม่ขาดอายุความ และฟังข้อเท็จจริงว่าพระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 ไว้จริงพระพิภัชฯ ไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 พิพากษาว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 เป็นฉบับที่พระพิภัชฯ ได้ทำไว้จริงและชอบด้วยกฎหมาย ส่วนฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 นั้น พระพิภัชฯ ไม่ได้ทำไว้ และใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ในคดีหลังขอให้ห้ามจำเลยไม่ให้เข้าจัดการ หรือยุ่งเกี่ยวกับกองมรดกของพระพิภัชฯ นั้น จะบังคับตามคำขอไม่ได้ เพราะคดีนี้พิพาทกันเรื่องพินัยกรรม ยังไม่ได้พิพาทกันเรื่องมรดก

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาได้ความในเบื้องต้นว่า พระพิภัชภูมิภาคผู้ตายมีภรรยา 4 คน คนแรกชื่อ ละมุล เกิดบุตรด้วยกันคือ ร้อยเอกประยูร ภรรยาคนที่ 2 ชื่อ เลื่อน เกิดบุตรด้วยกัน 4 คน แต่ตายเสีย 1 คนคงเหลือ 3 คน คือ นางสาวอนงค์ โจทก์ นายประเสริฐ และนายประสิทธิ์ ภรรยาคนที่ 3 ชื่อ ทองสุข เกิดบุตรด้วยกันคือ จำเลยทั้งสอง ภรรยาคนที่ 4 คือ นางสำเนียง โจทก์ เกิดบุตรด้วยกัน 5 คนคือ เด็กหญิงสมศรี เด็กชายสมศักดิ์ เด็กหญิงสมสุข เด็กหญิงสมส่องและเด็กชายสมชาย นางละมุลภรรยาคนแรกกับนางเลื่อน ภรรยาคนที่ 2 ได้วายชนม์ไปนานแล้ว ส่วนนางทองสุข ภรรยาคนที่ 3 หายสาบสูญไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 พระพิภัชฯ ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมแบ่งทรัพย์ให้แก่บรรดาบุตรของพระพิภัชฯ และนางสำเนียง โจทก์กับตั้งให้นางสำเนียงโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและจัดการศพ ส่วนจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีส่วนได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมด้วย พินัยกรรมฉบับนี้ทำที่กรมที่ดิน โดยมีพระพิจิตรจำนง พระพิมลเสนี และพระบริรักษ์นิติเกษตร เป็นพยานในพินัยกรรม ได้ทำขึ้นเป็น 3 ฉบับ ให้คณะกรรมการอำเภอธนบุรีรักษาไว้ 1 ฉบับ ผู้ตายและนางสำเนียงโจทก์รักษาไว้คนละฉบับ ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2494 พระพิภัชฯป่วยด้วยโรคปัสสาวะเป็นโลหิต รุ่งขึ้นวันที่ 1 พฤษภาคม 2494 บรรดาบุตรซึ่งรวมทั้งจำเลยทั้งสองด้วย และนางสำเนียง โจทก์ปรึกษาเห็นพ้องกันว่า ควรส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลครั้นวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 จึงพาพระพิภัชฯ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชได้รับการรักษาพยาบาลอยู่ 1 เดือน กับ 2 วัน ครั้นวันที่ 4 มิถุนายน 2494 พระพิภัชฯ ก็วายชนม์ วันรุ่งขึ้นได้มีการอาบน้ำศพที่บ้านสุภาพ และมีการเปิดพินัยกรรมที่ทำไว้ออกอ่านต่อหน้าผู้เป็นพยานในพินัยกรรม ทายาทของผู้ตายและพระยาบริหารนิติธรรม เว้นแต่จำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ได้ไปฟังการอ่านด้วย วันที่ 11 มิถุนายน 2494 ได้จัดการเผาศพผู้ตาย ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2494 จำเลยทั้งสองจัดให้มีการอ่านพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่ง โดยอ้างว่าผู้ตายได้ทำไว้ใหม่นายอดุลย์ สิงหเนตร ทนายความเป็นผู้เอามาอ่าน พินัยกรรมฉบับนี้ปรากฏว่าทำที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 ซึ่งเป็นวันแรกที่พาผู้ตายไปรักษาตัวนั่นเอง มีนายณรงค์กับนายสมบัติเป็นพยานในพินัยกรรม ในช่องผู้ทำพินัยกรรมได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ไม่ได้ลงลายมือชื่อเยี่ยงฉบับแรก ตามพินัยกรรมนั้น ทรัพย์ส่วนใหญ่ ๆ ตกได้แก่จำเลยและให้จำเลยทั้งสองกับร้อยเอก ประยูร เป็นผู้จัดการมรดกและจัดการศพ

โจทก์นำสืบว่า ผู้ตายกับจำเลยทั้งสองโกรธกัน โดยจำเลยที่ 1 เคยเป็นความกับผู้ตายเรื่องที่ดิน จำเลยที่ 2 เป็นพยานให้จำเลยที่ 1 ในที่สุดจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแพ้คดี จึงได้ออกจากบ้านผู้ตายไป ส่วน จำเลยที่ 2 นั้น ได้หนีออกจากบ้านไปได้สามี ผู้ตายโกรธมากคุณหญิงสุริยานุวัตรมาขอขมา ผู้ตายก็ไม่ยอมรับ บอกว่าเลือดก้อนเดียวตัดได้ ต่อมาจำเลยเคยไปทำการรดน้ำผู้ตายในวันขึ้นปีใหม่ ผู้ตายก็ไม่ยอมให้รด คืนที่รุ่งขึ้นจะพาผู้ตายไปโรงพยาบาล จำเลยทั้งสองไปเยี่ยม ผู้ตายก็บอกร้อยเอกประยูร ให้ไล่จำเลย เมื่อผู้ตายไปอยู่โรงพยาบาลแล้ว วันต่อมาจำเลยทั้งสองไปเยี่ยม ผู้ตายยังบอกให้นางสาวอนงค์ไล่จำเลยทั้งสองไปอีก ในวันแรกที่ผู้ตายไปถึงโรงพยาบาลไม่มีการทำพินัยกรรม ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2494 และตอนเช้าวันรุ่งขึ้นที่จะพาผู้ตายไปโรงพยาบาล ผู้ตายยังเซ็นชื่อได้ในใบเสร็จเก็บเงินค่าเช่าหลายฉบับเพื่อจะเอาไปใช้จ่ายในการรักษาตัว ผู้ตายมีเพื่อนสนิทคือ พระยาบริหารนิติธรรมและพวกที่เป็นพยานในพินัยกรรมในการกระทำที่เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่เคยใช้นายอดุลย์ สิงหเนตร นายอดุลย์ สิงหเนตร กับจำเลยทั้งสองชอบพอกัน เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตด้วยกัน ในวันที่อ่านพินัยกรรมฉบับแรกนั้น เมื่ออ่านแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ไปร้องไห้อยู่หลังตึก โดยเสียใจว่าผู้ตายไม่ได้ให้ทรัพย์สิ่งใดเลย

ส่วนจำเลยนำสืบว่า เมื่อทราบว่าผู้ตายทำพินัยกรรมให้นางสำเนียงโจทก์แล้ว ก็ได้ปรึกษากันเพื่อจะหาทางเข้าไปหาผู้ตาย ครั้นวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2493 ก็ได้เข้าไปรดน้ำผู้ตาย ผู้ตายก็คืนดีกับจำเลยต่อมาผู้ตายยังได้ไปหาจำเลยที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีก 2 ครั้งในปลายเดือนมีนาคม 2494 ผู้ตายนำร่างพินัยกรรมฉบับพิพาทไปให้นายอดุลย์ สิงหเนตร พิมพ์ บอกว่าจะทำที่สำนักงาน และให้นายอดุลย์ สิงหเนตร หาพยานให้ด้วย นายอดุลย์ สิงหเนตร จึงให้เสมียนพิมพ์แล้วเก็บไว้ ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2494 จำเลยทั้งสองทราบว่าผู้ตายป่วยในคืนนั้นจึงพากันไปเยี่ยมและปรึกษากันว่า จะต้องส่งโรงพยาบาล แล้วคนอื่นขอตัวไปนอนหมด คงอยู่แต่จำเลยทั้งสองเวลาราว 1 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ได้พูดขึ้นว่าหากผู้ตายเป็นอย่างไรไปลูกเล็ก ๆ คงลำบากเพราะแม่ยังสาว พื้นความรู้ไม่มี ไม่ได้ให้การศึกษาผู้ตายพูดว่าไม่ต้องเป็นห่วง พ่อทำไว้เรียบร้อยแล้ว ยังแต่จะเซ็นชื่อเท่านั้นเอง เมื่อเอาพ่อไปโรงพยาบาลแล้วให้ไปตามนายอดุลย์มาพ่อจะได้เซ็นชื่อให้รุ่งขึ้นได้พาผู้ตายไปโรงพยาบาลเมื่อเวลา 11 นาฬิกาเศษ ไม่มีคนอื่นอยู่ในที่นั้น คงมีแต่จำเลยทั้งสองกับนายสมเจตน์ ผู้ตายสั่งให้นายสมเจตน์ไปตามนายอดุลย์และให้เอาพินัยกรรมที่ให้พิมพ์มาให้ลงชื่อด้วย นายสมเจตน์ไปบอกนายอดุลย์ สิงหเนตร ที่สำนักงานที่ท่าพระจันทร์ ขณะนั้นนายสมบัติและนายณรงค์อยู่ที่นั่น นายอดุลย์ สิงหเนตร จะพาคนสองคนนี้ไปเป็นพยาน พินัยกรรมเดิมพิมพ์ไว้ว่าทำที่สำนักงานนายอดุลย์ สิงหเนตร นายอดุลย์ สิงหเนตรจึงให้นายประสิทธิ์พิมพ์พินัยกรรมนั้นใหม่ทั้งฉบับและได้ความจากนายสมเจตน์ว่า ผู้ตายป่วยมาก มือสั่น จึงให้เติมข้อความตอนพยานลงชื่อว่า เป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือด้วย พิมพ์เสร็จแล้วได้พากันไปถึงโรงพยาบาลศิริราชเวลาเกือบเที่ยง แล้วจัดการอ่านพินัยกรรมนั้นให้ผู้ตายฟัง และพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ รวมเวลาที่เข้าไปหาผู้ตายเป็นเวลาเพียง 15 หรือ 20 นาที ก็เสร็จ นายอดุลย์สิงหเนตร กับนายสมบัติ นายณรงค์ ก็พากันกลับ นายอดุลย์ สิงหเนตรเป็นผู้เก็บพินัยกรรมนั้นไว้ ผู้ตายไม่เคยปรึกษาหารือทางคดีกับนายอดุลย์ สิงหเนตร หรือเคยใช้ให้ว่าความ คงใช้เฉพาะทำพินัยกรรมฉบับนี้เท่านั้น

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์คำพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น ว่าข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทที่จำเลยอ้างได้เกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่

ส่วนข้อกฎหมายที่จำเลยเถียงว่า โจทก์แถลงด้วยวาจาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2494 ไม่ได้ทำเป็นคำร้องด้วยหนังสือ เป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลเลื่อนการชี้สองสถานออกไปเองก็เป็นการไม่ชอบ ขอให้ชี้ขาดว่า ฟ้องโจทก์สำนวนแรกเคลือบคลุม แล้วพิพากษายกฟ้อง นั้น ในข้อนี้ได้ความว่า วันที่ 2 สิงหาคม 2494 เป็นวันที่นัดชี้สองสถาน แต่ก่อนวันนัดชี้สองสถานเพียง 2 วัน คือเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2494 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องเพิ่มเติมคำให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ศาลยังไม่ได้สั่งคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยว่ากระไร เพราะฝ่ายโจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การนั้น ครั้นถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2494 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถาน ศาลออกนั่งพิจารณา โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยในวันนั้น โจทก์จึงแถลงด้วยวาจาขึ้นว่าเมื่อจำเลยต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ก็จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเสียใหม่ โดยยืนยันว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2พฤษภาคม 2494 นั้น ผู้ตายไม่ได้ทำไว้ เมื่อโจทก์แถลงดังนี้ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่า ให้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเข้ามาก่อนใน 3 วันเสร็จแล้วศาลจะให้เวลาฝ่ายจำเลยแก้คำร้องนั้นตามควร แล้วจึงจะได้นัดชี้สองสถานใหม่ เรื่องเป็นดังนี้ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่โจทก์แถลงด้วยวาจาต่อหน้าศาลเช่นนั้น ไม่เห็นผิดอะไร ไม่จำเป็นต้องให้พูดลงในคำร้องเป็นหนังสือ จำเลยเองก็ทำผิด ไม่ร้องเพิ่มเติมคำให้การเสียก่อนวันนัดชี้ ให้มีเวลาพอได้ส่งสำเนาคำร้องนั้นให้แก่ฝ่ายโจทก์ ไม่ต่ำกว่า 3 วัน ตามความใน มาตรา 181(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่ศาลเลื่อนการชี้สองสถานออกไปจึงเป็นการสมควรและชอบด้วยความเป็นธรรมแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าขอให้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะที่โจทก์ขอแก้ฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 และเมื่อจำหน่ายคดีเฉพาะตอนนี้แล้ว ย่อมเป็นผลให้ฟ้องโจทก์สู่สภาพเดิมคือเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องคดีแรกนั้น ข้อนี้ได้ความว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องแล้ว จำเลยได้แถลงคัดค้านให้ยกคำร้องขอแก้ฟ้องต่อมาศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ จำเลยก็ขอเวลายื่นคำให้การแก้ฟ้องเพิ่มเติมใน 3 วัน ศาลสั่งอนุญาตและสั่งต่อไปว่าเมื่อจำเลยได้ยื่นคำให้การแล้วจึงให้มีการชี้สองสถานอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 7 กันยายน 2494 ครั้นวันที่ 3 กันยายน 2494 จำเลยได้ยื่นคำแถลงว่า การที่โจทก์ขอแก้ฟ้อง จำเลยถือว่าโจทก์ดำเนินการพิจารณาผิดระเบียบ เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง จำเลยก็ต้องให้การเพิ่มเติม โดยมิให้ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันเป็นการรับรองการกระทำของโจทก์ ในตอนท้ายแห่งคำแถลงนั้น จำเลยก็กล่าวแก้ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ ครั้นวันที่ 7 กันยายน 2494 ศาลได้ออกนั่งพิจารณาเพื่อทำการชี้สองสถาน ทนายโจทก์ขอให้ศาลสอบจำเลยว่า ที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้ และให้จำเลยทำคำให้การแก้ฟ้องเพิ่มเติมเข้ามาใน 3 วันนั้น จำเลยได้ทำคำให้การเพิ่มเติมเข้ามาหรือไม่ จำเลยแถลงว่า ไม่ได้ทำคำให้การเพิ่มเติมเข้ามา เพราะถือว่าโจทก์ไม่ควรจะมีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ถ้าจำเลยทำคำให้การแก้ฟ้องเพิ่มเติมในชั้นนี้ เกรงว่าจะเป็นการให้สัตยาบันแก่โจทก์ในการแก้ฟ้องนั้นจำเลยจึงได้ยื่นคำแถลงเข้ามาแทนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2494 ซึ่งในคำแถลงนั้นมีคำแก้ฟ้องของโจทก์อยู่ด้วย ศาลได้ทำคำสั่งว่า เมื่อจำเลยแถลงเช่นนี้ ก็แปลงว่าจำเลยขาดนัดไม่ยื่นคำให้การ แก้ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ตามที่ศาลสั่ง และไม่ให้ถือว่าคำแถลงลงวันที่ 3 กันยายน 2494 ของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การ ให้หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่โจทก์ให้นัดสืบวันที่ 12 ตุลาคม 2494 ครั้นวันที่ 14 กันยายน 2494 จำเลยยื่นคำแถลงเพื่อประโยชน์ในการอุทธรณ์ มีใจความสำคัญว่า จำเลยไม่ได้ขาดนัดยื่นคำให้การคำแถลงลงวันที่ 3 กันยายน 2494 เป็นคำให้การของจำเลยศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในศาลชั้นต้น จำเลยโต้เถียงคัดค้านคำสั่งศาลอยู่ว่า จำเลยไม่ได้ขาดนัดยื่นคำให้การ คำแถลงลงวันที่ 3 กันยายน 2494 เป็นคำให้การของจำเลย แต่มาในชั้นนี้จำเลยกลับอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยได้ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์มิได้ปฏิบัติตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ขอให้ศาลจำหน่ายคดีเฉพาะตอนที่โจทก์ขอแก้ฟ้องเช่นนี้ ย่อมเป็นการอุทธรณ์ที่ผิดจากข้อโต้เถียงที่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้แต่เดิม อนึ่ง จำเลยก็ได้ยื่นคำแถลงแก้ฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ไว้แล้ว การที่ขอแก้ฟ้องก็เป็นการขอแก้ไขเพียงบางส่วน แม้จะถือว่าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องที่โจทก์ขอเพิ่มเติม จะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้เพราะความจริงจำเลยก็ได้ยื่นคำให้การไว้แล้ว การจำหน่ายคดีย่อมต้องจำหน่ายทั้งคดีจะจำหน่ายเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของคดีหาได้ไม่ที่จำเลยคัดค้านว่า แม้โจทก์ในคดีแรกจะแก้ฟ้องแล้ว ฟ้องก็ยังเคลือบคลุมอยู่อีก และฟ้องคดีหลังก็เคลือบคลุม นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่เคลือบคลุม เพราะตามที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมานั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทไว้นั่นเอง จำเลยคัดค้านว่า โดยผลแห่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ย่อมเป็นการตัดอำนาจฟ้องของนางสาวอนงค์ โจทก์ จึงขอให้ยกฟ้องเสียนั้น ก็เห็นว่าเฉพาะคดีที่นางสาวอนงค์เป็นโจทก์ได้ฟ้องว่า นางสาวอนงค์เป็นทายาทของผู้ตายผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทไว้ ขอให้แสดงว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทเป็นโมฆะ ทางพิจารณาได้ความสมฟ้อง จึงยกฟ้องสำนวนที่นางสาวอนงค์เป็นโจทก์ไม่ได้ จำเลยคัดค้านอีกว่า ฟ้องคดีหลังขาดอายุความตาม มาตรา 1710 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อายุความตามมาตรา 1710 นั้น เป็นอายุความที่ฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม ซึ่งไม่ต้องกับกรณีนี้เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรม แต่เป็นเรื่องฟ้องขอให้แสดงว่า เอกสารที่จำเลยอ้างว่า เป็นพินัยกรรมของผู้ตายนั้นความจริงไม่ใช่เป็นพินัยกรรมของผู้ตาย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืน

จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกาคัดค้านทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาฟังคำแถลงคารมของคู่ความและปรึกษาคดีนี้แล้ว จะได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่จำเลยคัดค้านในชั้นนี้ก่อน จำเลยคัดค้านว่าคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นฟ้องเคลือบคลุม ได้พิเคราะห์แล้วคำฟ้องของนางสำเนียง โจทก์ชั้นแรกยืนยันว่า พระพิภัชฯ ไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับที่จำเลยอ้าง แต่ในตอนท้ายกล่าวว่า หากได้มีการกระทำขึ้นจริงก็ต้องเป็นความสำคัญผิดถึงขนาดของพระพิภัชฯ ฯลฯ การบรรยายฟ้องเช่นนี้ แม้จะเป็นการเคลือบคลุมดังจำเลยต่อสู้ แต่นางสำเนียงโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องก่อนได้มีการชี้สองสถาน คงยืนยันเพียงอย่างเดียวว่า พระพิภัชฯ ไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับที่จำเลยอ้างศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ฟ้องได้แล้ว คำฟ้องของนางสำเนียง โจทก์จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยคัดค้านอีกว่า เมื่อนางสำเนียง โจทก์ขอแก้ฟ้องแล้วจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติม คงยื่นแต่คำแถลงศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แก้ฟ้องเพิ่มเติมโดยไม่ถือว่าคำแถลงของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การ เมื่อโจทก์มิได้จัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ก็ขอให้จำหน่ายคดีโจทก์เสียนั้น ข้อนี้เห็นว่า ความจริงจำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้ไว้ในชั้นแรกแล้วจักถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การยังไม่ถนัด อย่างไรก็ดี ตามบทกฎหมายที่จำเลยอ้าง เพียงแต่บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีเมื่อพ้น 15 วัน ได้เท่านั้น ศาลทั้งสองไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ ยังไม่ควรแก้ไขคำฟ้องของนางสาวอนงค์โจทก์ได้บรรยายความเป็นที่เข้าใจว่าพระพิภัชฯ ไม่ได้ทำพินัยกรรมฉบับที่จำเลยอ้าง จึงหาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่

ส่วนข้อเท็จจริงนั้น ได้ความชัดว่า พระพิภัชฯ ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492 ซึ่งเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายไว้จริง แต่ต่อมาพระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 ที่จำเลยอ้าง ซึ่งจะเรียกว่าพินัยกรรมฉบับพิพาทหรือไม่ได้พิเคราะห์คำพยานทั้งสองฝ่ายในข้อนี้แล้ว ปรากฏว่าวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 เป็นวันที่พาพระพิภัชฯ ไปถึงโรงพยาบาลวันแรก ซึ่งไม่จำเป็นอย่างไรที่พระพิภัชฯ จะต้องทำพินัยกรรมในเวลาที่ฉุกละหุกเช่นนั้น ทั้งโจทก์มีพยานยืนยันว่า ไม่เห็นมีการทำพินัยกรรมในวันนั้น พินัยกรรมฉบับก่อนพระพิภัชฯ ได้ทำขึ้นถึง 3 ฉบับต่อหน้าพยานผู้เป็นมิตรและมีบรรดาศักดิ์โดยจัดทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนเฉพาะที่ดินยกให้ผู้ใดก็มีแผนที่เขียนแบ่งเป็นส่วน ๆ ประกอบไว้ชัดเจน แล้วฝากไว้ที่อำเภอฉบับหนึ่ง พระพิภัชฯ กับนางสำเนียงโจทก์รักษาไว้คนละฉบับ ส่วนพินัยกรรมฉบับพิพาทคงทำไว้ฉบับเดียวนายอดุลย์ สิงหเนตร ผู้เป็นเพื่อนกับบุตรชายพระพิภัชฯ เป็นผู้จัดการทำขึ้นตลอดจนหาพยานผู้ลุกนั่ง และรับรักษาพินัยกรรมมีลายพิมพ์นิ้วมือกดในช่องผู้ทำพินัยกรรม ทั้ง ๆ ที่ได้ความว่าวันก่อนที่จะพาพระพิภัชฯ ไปโรงพยาบาล พระพิภัชฯ ยังเซ็นชื่อได้ พระพิภัชฯมีความรักใคร่และห่วงใยนางสำเนียง โจทก์ผู้เป็นภรรยากับบุตรเล็ก ๆ 5 คน ซึ่งเกิดกับนางสำเนียง โจทก์มาก พระพิภัชฯ จึงทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกทรัพย์ส่วนใหญ่ให้แก่นางสำเนียง โจทก์กับบุตรเล็ก ๆ 5 คนนั้น ทั้งตั้งให้นางสำเนียง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกและจัดการศพด้วยส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเคยเป็นความกับพระพิภัชฯ และจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนได้รับมรดกเลย แต่พินัยกรรมฉบับพิพาทนางสำเนียง โจทก์กลับไม่ได้รับทรัพย์สิ่งใด บุตร 5 คน ก็ได้รับทรัพย์เพียงเล็กน้อย ทรัพย์ส่วนใหญ่คงตกได้แก่จำเลยทั้งสอง และตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกและจัดการศพ โดยไม่ปรากกว่านางสำเนียง โจทก์ได้ทำตนให้พระพิภัชฯ คลายความรักใคร่อย่างใดนางสำเนียง โจทก์ก็ได้อยู่รับใช้พระพิภัชฯ ตลอดมาจนพระพิภัชฯ ตายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2494 ซึ่งเป็นวันอาบน้ำศพพระพิภัชฯ พระพิมลเสนีเป็นผู้อ่านพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2492ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ฟังอยู่ด้วย จำเลยที่ 2 ก็หาได้คัดค้าน หรือแจ้งให้ทราบในขณะนั้นว่า พระพิภัชฯ ให้นายอดุลย์ สิงหเนตร ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทไว้อีกฉบับหนึ่งว่า อ้างว่ากลัวจะเกิดทะเลาะกันขึ้นคิดว่าฉบับที่นายอดุลย์ สิงหเนตร ทำคงจะได้แก่จำเลยที่ 1 มาก ซึ่งไม่สมเหตุผล เพราะเพียงแต่บอกว่าพระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมไว้อีกฉบับหนึ่งจะเกิดทะเลาะกันได้อย่างไร แต่กลับได้ความว่า เมื่ออ่านพินัยกรรมแล้วจำเลยที่ 2 ได้ร้องไห้เสียใจที่ไม่ได้ส่วนแบ่งและพูดว่าแม้แต่กระโถนใบเดียวก็ไม่ยกให้ ความข้อนี้จำเลยกล่าวในฎีกาว่า ที่จำเลยที่ 2 พูดเช่นนั้นเป็นคำประชดและพูดเป็นนัย ๆ ว่า ยังมีพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งที่จำเลยจะได้รับทรัพย์ ซึ่งไม่เป็นถ้อยคำที่กลมกลืนกันเลย ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ไปร้องไห้กับพระยาอรรถศาสตร์ฯ เพื่อนของพระพิภัชฯ และเล่าเรื่องพินัยกรรมของพระพิภัชฯ ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนได้ จำเลยที่ 1 เบิกความว่าได้เล่าให้พระยาอรรถศาสตร์ฯ ฟังว่า นายอดุลย์ฯ บอกว่า มีพินัยกรรมทำไว้ด้วยพระยาอรรถศาสตร์ฯ เตือนว่า ทำเป็นบ้าไปได้พินัยกรรมฉบับที่อ่านเป็นของนางสำเนียง ของเราอยู่ที่นายอดุลย์ต่างหากจำเลยที่ 1 จะขอให้นายอดุลย์ฯ อ่านพินัยกรรม แต่พระยาอรรถศาสตร์ฯ ห้ามไว้ว่าหากอ่านซ้อนกัน ศพไม่ต้องเผาละ ให้ใจเย็น ๆ ไว้ก่อน และบอกให้จำเลยที่ 1 ไปถามนายอดุลย์ฯ ว่าพินัยกรรมที่ทำไว้ลงวันที่เท่าใดจำเลยที่ 1 จึงไปถามนายอดุลย์ฯ นายอดุลย์ฯ บอกว่าพินัยกรรมลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2494 แต่จำเลยหาได้อ้างพระยาอรรถศาสตร์ฯ มาเบิกความประกอบไม่ ในวันที่นายอดุลย์ฯ ไปทำพินัยกรรมให้พระพิภัชฯ ที่โรงพยาบาล จำเลยที่ 1 ก็ได้อยู่รู้เห็นด้วย ไฉนจะต้องกลับไปถามนายอดุลย์ฯ อีกว่าพินัยกรรมทำไว้ลงวันที่เท่าใด แต่ภายหลังกลับเบิกความว่า ไม่ได้บอกพระยาอรรถศาสตร์ฯ ถึงเรื่องนายอดุลย์ฯทำพินัยกรรม ถ้าพระพิภัชฯ ได้ทำพินัยกรรมฉบับพิพาทไว้จริง จำเลยก็ควรจะนำพินัยกรรมฉบับนี้ออกแสดงทันที หากมีผู้โต้เถียงถึงความแท้จริงของพินัยกรรมจะได้พิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือกันได้ แต่จำเลยกลับนำออกแสดงหลังจากพระพิภัชฯ ตายแล้วถึง 14 วัน จนปลงศพพระพิภัช

Share