คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7389/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การแสดงเจตนาดังกล่าว อาจทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ การบอกเลิกสัญญาจ้างจึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าจำเลยบังคับให้โจทก์ทำหนังสือลาออก จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 33,000 บาท พร้อมทั้งด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 16,499.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 4 พฤศจิกายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยบังคับให้โจทก์ยื่นใบลาออกโดยไม่สมัครใจนั้น เป็นการรับฟังพยานบุคคลเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารอันเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 94 บัญญัติว่า “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้าง และนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด” หมายความว่า เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงแล้ว ห้ามนำพยานบุคคลมาสืบแทนเอกสาร หรือสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร แต่ไม่ห้ามนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อหักล้างเอกสารว่าเอกสารนั้นปลอมหรือหนี้ตามเอกสารไม่สมบูรณ์ หรือตีความไม่ถูกต้อง เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้าง หรือลูกจ้างแสดงเจตนาขอลาออกจากงานไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องมีพยานเอกสารมาแสดงแต่อย่างใด การแสดงเจตนาดังกล่าวอาจทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ การบอกเลิกสัญญาจ้างจึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 94 ที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานบุคคลประกอบเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ แล้วฟังว่าจำเลยบังคับให้โจทก์ทำหนังสือลาออกนั้น จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share