แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชำระหนี้ทั้งหมด
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทพายัพวนกิจ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จองหุ้นจำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ดำเนินการจัดตั้งบริษัทนั้นตามที่ได้จดทะเบียนหนังสือบริคณสนธิไว้แล้ว ตกลงค่าจ้างกันตามที่ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้มีมติกำหนดให้ โจทก์ตกลงและจัดการต่าง ๆ ให้จนกระทั่งวันที่ 4 ตุลาคม 2494 ที่ประชุมตั้งบริษัทพายัพวนกิจ จำกัด ได้มีมติจ่ายเงินค่าบำเหน็จแก่โจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังได้ทดรองจ่ายเงินพาหนะในการไปที่ต่าง ๆ ตามที่จำเลยสั่งรวมเป็นเงิน 96 บาท โจทก์ได้ทวงถามเงินสองจำนวนนี้จากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระให้ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินสองจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยเป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทพายัพวนกิจ จำกัด และที่ประชุมตั้งบริษัทได้ลงมติให้บำเหน็จแก่โจทก์เป็นเงิน 3,000 บาทจริง แต่ต่อสู้เป็นใจความว่า จำเลยไม่ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ดังฟ้องและบริษัทพายัพวนกิจนี้ จดทะเบียนเป็นบริษัทไม่สำเร็จ โดยโจทก์ไม่ขวนขวายให้เป็นผลสำเร็จ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยเป็นแต่เพียงผู้จองหุ้นในบริษัทพายัพวนกิจ ต่อสู้ว่า ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทำนองเดียวกับคำให้การจำเลยที่ 1 กับตัดฟ้องว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างซึ่งโจทก์เป็นทนายและทำไปตามหน้าที่ทนาย โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปีแล้ว ขาดอายุความตาม มาตรา 165 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดใช้เงินค่าบำเหน็จ 2,500 บาท กับเงินทดรอง 70 บาท แก่โจทก์ และให้ จำเลยที่ 1 ใช้เงินทดรองแก่โจทก์อีก 26 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่ง ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้เงินทดรองอีก 26 บาท แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลแพ่ง
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมา แต่ศาลแพ่งสั่งรับฎีกาเฉพาะฎีกาข้อ 3 ซึ่งเป็นปัญหากฎหมาย
ศาลฎีกาปรึกษาแล้ว ฎีกาข้อ 3 ซึ่งศาลสั่งรับมีความว่า ตามกฎหมายเมื่อได้จดทะเบียนบริคณห์สนธิแล้ว ผู้ที่จดทะเบียน คือผู้ก่อการจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน กรณีนี้จดทะเบียนไว้ 10 คน ควรจะบังคับให้ใช้คนละ 1 ใน 10 ฉะนั้น จำเลยจะต้องใช้เพียง 250 บาทเท่านั้น
เห็นว่า เรื่องนี้แม้จะมีผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมอยู่ด้วยกันหลายคนก็ดี แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้รายนี้ทั้งหมดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม นอกจากนั้นแล้วข้อกฎหมายข้อนี้ก็ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ตลอดจนชั้นอุทธรณ์ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ไม่ได้จึงให้ยกเสีย ค่าธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ