คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9487/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 เพื่อเป็นการรักษาสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยไว้เท่านั้น และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตาม มาตรา 107 การถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา 345,312 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 345,312 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดจำนวนเงิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ด้วย เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บฉ 723 พัทลุง ไปจากโจทก์ในราคา 470,880 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 60 งวด งวดละ 7,334.58 บาท ต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 เมษายน 2549 และงวดถัดไปวันที่ 10 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบ หากผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน โจทก์แจ้งให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงทันที ทั้งมีข้อตกลงให้ผู้เช่าซื้อเอาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 1 ครอบคลุมภัยทุกชนิด โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยและระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และเป็นผู้เก็บรักษากรมธรรม์ประกันภัยตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 เอาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้กับจำเลยที่ 2 มีผลคุ้มครองระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2551 ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัย เนื่องจากต้นฉบับเอกสารดังกล่าวหายไป โจทก์จึงแจ้งความไว้ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 16 งวด เป็นเงิน 125,568 บาท ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 17 ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ติดต่อกันเกินสามงวด ยังคงค้างชำระค่าเช่าซื้ออีก 345,312 บาท ตามรายละเอียดการชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับ ต่อมาโจทก์ทราบว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งคันโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แล้วตามหนังสือและใบตอบรับ จำเลยที่ 2 เพิกเฉย
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกากล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและได้แสดงความประสงค์ขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยแล้ว โจทก์จึงต้องเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 มิใช่เรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเป็นการเรียกร้องซ้ำซ้อนนั้น เห็นว่า สัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ทำขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้ออันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เพื่อเป็นค่าทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์อีกทางหนึ่งซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนจากข้อผูกพันตามสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งหรือทั้งสองฉบับก็ได้จนกว่าจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายครบถ้วน แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัยด้วยการเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่เอาประกัน แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 126 ง ฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 144 ง ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2554 ว่า ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 27 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้ล้มละลาย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือไม่ ซึ่งหากโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายก็เป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในสองมาตราดังกล่าวเพื่อเป็นการรักษาสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยไว้เท่านั้น และเป็นการไม่แน่นอนว่าจะได้รับชำระหนี้เพราะคำขออาจถูกยกหรืออนุญาตทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น การถือเอาประโยชน์ของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยด้วยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจึงมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกันดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชำระเงิน 56,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share