คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13642/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 นั้น พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยย่อมได้ประโยชน์จากมาตรา 4 แห่งระราชบัญญัติดังกล่าวที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีมีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ การที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 จึงเป็นการผิดหลงเล็กน้อย ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ โดยไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 339 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 10 ปี ฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 20 ปี รวมจำคุก 30 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 40 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 12,600 บาท แก่ผู้เสียหาย คดีถึงที่สุดวันที่ 21 มกราคม 2551
วันที่ 20 ตุลาคม 2554 จำเลยยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 (ที่ถูก พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550) ประกาศใช้โดยให้ล้างมลทินให้แก่ผู้ซึ่งเคยต้องโทษและพ้นโทษไปก่อนพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 (ที่ถูก พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550) มีผลใช้บังคับให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยต้องโทษมาก่อน คดีที่นำมาเพิ่มโทษจำเลยนั้น จำเลยได้พ้นโทษไปแล้ว ต้องถือว่าจำเลยมิเคยต้องโทษมาก่อน การที่จำเลยถูกเพิ่มโทษจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้งดการเพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ จำเลยไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีเหตุแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาให้แก่จำเลย จึงให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 จำเลยยื่นคำร้องขอให้แก้ไขคำพิพากษาที่เพิ่มโทษจำเลยโดยอ้างพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง คดีถึงที่สุด จำเลยมายื่นคำร้องครั้งใหม่แม้จะอ้างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาแล้วเป็นการอ้างกฎหมายไม่ถูกต้องโดยจำเลยประสงค์จะอ้างว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ดังนี้ เท่ากับจำเลยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดและถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
อนึ่ง คดีนี้ความปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 หลังจากที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีมีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุที่ขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ อันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 การที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 จึงเป็นการผิดหลงเล็กน้อย ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ โดยไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้คดีของจำเลยถึงที่สุดไปแล้วแต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษากลับว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 10 ปี ฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 20 ปี รวมจำคุก 30 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี

Share