คำวินิจฉัยที่ 23/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นภริยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของผู้ตายและมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกันสองคนยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของผู้ตาย กรณีเป็นเรื่องที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา1711, 1713, 1718 และมาตรา 1719 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 6 จึงไม่ใช่คดีครอบครัว ส่วนประเด็นว่าผู้คัดค้านเป็นภริยาอีกคนหนึ่งของผู้ตายเนื่องจากมีการจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายตามหลักกฎหมายอิสลามหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ศาลจังหวัดนราธิวาสมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้ กรณีไม่มีผลให้อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเปลี่ยนแปลงไป คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาที่จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจนิมิตร ผู้ตาย และมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกันสองคน เป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลยกคำร้องขอของผู้ร้องหรือตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลจังหวัดนราธิวาส เห็นว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยส่วนหนึ่งว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกหรือไม่ กรณีจึงมีปัญหาว่าคดีนี้จะอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนมาให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า คดีครอบครัว หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัว ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว มีความหมายว่า คดีที่เกี่ยวด้วยการสมรส สิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตรไม่ว่าในทางใด ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ทั้งหมด คดีที่เกี่ยวด้วยสถานะและความสามารถของบุคคลอันเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใน บรรพ 1 มาตรา 21 ถึง 28, 32, 43 และ 44 และในบรรพ 6 มาตรา 1610, 1611, 1687 และ 1692 รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ย่อมถือเป็นคดีครอบครัวทั้งสิ้น คดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของผู้ตายและมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกันสองคนยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมของผู้ตาย กรณีเป็นเรื่องที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1711, 1713, 1718 และมาตรา 1719 ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 6 จึงไม่ใช่คดีครอบครัวคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 7 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2557

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์)
ประธานศาลฎีกา

Share