คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9479/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติว่า “นายจ้างจะเลิกจ้าง ลดค่าจ้างหรือตัดค่าจ้างกรรมการกิจการสัมพันธ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เว้นแต่…” มาตรา 34 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง… ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง… ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ หรืออนุกรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่…” และมาตรา 35 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง (1) เลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้ดำเนินการขอจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน หรือเข้าเป็นสมาชิก หรือเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน…” มีความหมายเพียงว่า นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างหรือลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์หากไม่ได้รับการอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน และไม่อาจเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ ให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน บทบัญญัตินี้ไม่ได้คุ้มครองถึงกระบวนการก่อนการเลิกจ้างหรือก่อนการลงโทษลูกจ้างเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะขอให้ศาลแรงงานลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์ หรือลงโทษลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างแล้วแต่กรณีไป มิฉะนั้นนายจ้างย่อมไม่อาจริเริ่มกระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ลูกจ้างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ออกจากงานโดยปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบสวน เปิดโอกาสให้โจทก์ชี้แจงแล้วพบว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงในการทุจริตต่อหน้าที่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน จึงมิใช่เป็นการประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะโจทก์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวดังที่โจทก์อุทธรณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม จ่ายค่าจ้างตามอัตราเดิมและปรับค่าจ้างตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ ค.53/2550 หากไม่รับกลับเข้าทำงานให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินโบนัส 551,500 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 183,790 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี 274,499 บาท ค่าชดเชย 334,800 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 35,712 บาท เงินทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายสมทบ 581,448 บาท ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ เสียสุขภาพ และขาดรายได้ 5,814,400 บาท ค่าเสียหายจากการขาดสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สัญญาจ้างและสวัสดิการที่เคยได้รับจนถึงวันเกษียณ 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินโบนัส 66,960 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 22,320 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 และร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินโบนัส 484,540 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 161,470 บาท และเงินที่เรียกร้องอื่นขอคิดนับแต่วันที่ 22 มกราคม 2552 ส่วนค่าเสียหายขอคิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าเสียหาย 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยที่ 53/2553 ว่า คดีตามฟ้องแย้งในส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ส่วนคดีตามฟ้องแย้งในส่วนที่จำเลยที่ 2 ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ จำเลยที่ 2 มีคำสั่งที่ 441/2535 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการสรรหาและโยกย้ายพนักงานขับรถซึ่งต้องพิจารณาจากรหัสพนักงานขับรถก่อนและความอาวุโสของพนักงานขับรถ และระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด พ.ศ.2532 วันที่ 7 ธันวาคม 2521 จำเลยที่ 2 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่หัวหน้างานรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ ระดับ 7 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 33,480 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือน วันที่ 22 ธันวาคม 2548 พนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 สังกัดกองการเดินรถภาคเหนือทำหนังสือร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์และนายประดิยุทธ์ ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายควบคุมและบริหารต้นทุนการเดินรถ 2 และ 3 มีหน้าที่ในการพิจารณาและจัดทำบัญชีโยกย้ายตำแหน่งพนักงานขับรถ จำเลยที่ 2 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แล้วพบว่าโจทก์และนายประดิยุทธ์มีการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของจำเลยทั้งสอง และทุจริตต่อหน้าที่ตามรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง วันที่ 29 กันยายน 2549 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ ข.153/2549 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยแก่โจทก์และนายประดิยุทธ์ วันที่ 22 มกราคม 2552 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งที่ ก.41/2552 เรื่อง ให้โจทก์ออกจากงาน โดยระงับโทษตัดค่าจ้างไว้ เนื่องจากโจทก์โยกย้ายพนักงานขับรถมาตรฐาน 2-3 ไปปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถมาตรฐาน 1-4 ภาคการเดินรถที่ 1 ไม่เป็นไปตามคำสั่งจำเลยที่ 2 ที่ 441/2535 การคัดเลือกโยกย้ายไม่เป็นไปตามอาวุโสรหัสพนักงานตามธรรมเนียมปฏิบัติ หากพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ต้องการขับรถโดยสารคันใหม่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยตรงและผ่านนายสุวิทย์ พฤติกรรมการโยกย้ายพนักงานขับรถของโจทก์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่แสวงผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการในองค์กรของจำเลยที่ 2 อย่างร้ายแรง และไม่ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของพนักงานขับรถซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีสถานะความเป็นอยู่ทางสังคมและเศรษฐกิจด้อยกว่าโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ไม่เคลือบคลุม เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีความเห็นโดยเสียงข้างมากให้ยกข้อกล่าวหาว่าโจทก์เรียกรับผลประโยชน์รวมทั้งการจัดเก็บเงินประจำเดือน จึงไม่ต้องวินิจฉัยข้อกล่าวหานี้ จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ออกจากงานโดยปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบสวน เปิดโอกาสให้โจทก์ชี้แจงแล้วพบว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงในการทุจริตต่อหน้าที่ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายที่โจทก์ขาดประโยชน์กับค่าเสียหายจากการขาดสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง สัญญาจ้างสวัสดิการที่เคยได้รับจนถึงวันเกษียณ ที่ถือเป็นค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ตามฟ้อง เมื่อโจทก์ถูกให้ออกย่อมไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส 66,960 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 22,320 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณี 274,499 บาท และเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนที่จำเลยที่ 2 สมทบให้จำนวน 581,448 บาท เพราะเป็นค่าเสียหายในอนาคต คำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่ให้โจทก์ออกจากงานเป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ การที่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง โดยใช้กระบวนยุติธรรมในการดำเนินการต่อสู้ในระบบกฎหมาย ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้ทำให้จำเลยที่ 2 เสียภาพพจน์และชื่อเสียงขององค์กร โจทก์ไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้องแย้ง
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยเสนอความเห็นตัดค่าจ้างโจทก์ร้อยละ 10 ในกรณีโจทก์โยกย้ายพนักงานขับรถไม่เป็นธรรมและไม่พบพยานหลักฐานว่าโจทก์กระทำผิดในกรณีจัดพนักงานขับรถขึ้นปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรม จึงไม่ใช่ความผิดร้ายแรง คำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยยืนยันว่าไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันความผิดของโจทก์ จึงยังไม่สามารถชี้ชัดว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ ไม่มีพยานมาเบิกความยืนยันว่าพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ชัดแจ้ง พยานที่มาเบิกความต่อศาลแรงงานกลางอ้างว่าได้ส่งมอบเงินแก่โจทก์เป็นเพียงพยานบอกเล่า การพิจารณาโยกย้ายพนักงานขับรถไม่ถูกบังคับว่าต้องจัดลำดับให้เป็นไปตามอาวุโส โจทก์ไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการโยกย้ายพนักงานขับรถ จึงไม่มีเหตุที่จะเรียกร้องเอาเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาก็ดี การออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์และให้ตัดค่าจ้างโจทก์ร้อยละ 10 เป็นเวลา 3 เดือน ในกรณีโยกย้ายพนักงานขับรถโดยไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี จำเลยที่ 2 ใช้เวลาในการพิจารณาโทษของโจทก์อย่างยาวนานเป็นการให้อภัยแก่โจทก์ก็ดี เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงในชั้นคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยและคำเบิกความของพยานเพียงบางส่วนเพื่อโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ออกคำสั่งที่ ก.41/2552 ให้โจทก์ออกจากงานโดยระงับโทษตัดค่าจ้างไว้ เพราะโจทก์โยกย้ายพนักงานขับรถไม่เป็นไปตามอาวุโสรหัสพนักงานตามธรรมเนียมปฏิบัติ หากพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ต้องการขับรถโดยสารคันใหม่จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยตรงและผ่านนายสุวิทย์ พฤติกรรมการโยกย้ายพนักงานขับรถของโจทก์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่แสวงผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีฐานะเป็นคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ เป็นกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานบริษัทขนส่ง จำกัด โดยเป็นผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้องในขณะที่จำเลยที่ 1 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ แม้การเลิกจ้างจะเกิดขึ้นภายหลังโจทก์พ้นตำแหน่งดังกล่าวแล้ว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ในการทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ด้วยการสอบสวนเพื่อลงโทษจนถึงขั้นเลิกจ้าง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติว่า “นายจ้างจะเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง หรือตัดค่าจ้าง กรรมการกิจการสัมพันธ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน เว้นแต่…” มาตรา 34 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง… ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง …ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ หรืออนุกรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่…” และมาตรา 35 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง (1) เลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้ดำเนินการขอจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน หรือเข้าเป็นสมาชิก หรือเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน…” มีความหมายเพียงว่า นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างหรือลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์หากไม่ได้รับการอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน และไม่อาจเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ ให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน บทบัญญัตินี้ไม่ได้คุ้มครองถึงกระบวนการก่อนการเลิกจ้างหรือก่อนการลงโทษลูกจ้างเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะขอให้ศาลแรงงานลงโทษลูกจ้างที่เป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์ หรือลงโทษลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้างแล้วแต่กรณีไป มิฉะนั้นนายจ้างย่อมไม่อาจริเริ่มกระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ลูกจ้างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ออกจากงานโดยปฏิบัติตามขั้นตอนการสอบสวน เปิดโอกาสให้โจทก์ชี้แจงแล้วพบว่าโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงในการทุจริตต่อหน้าที่เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาต่อรองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน จึงมิใช่เป็นการประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะโจทก์ดำรงตำแหน่งดังกล่าวดังที่โจทก์อุทธรณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัตินี้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อแรกที่ว่า โจทก์ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายตามฟ้องแย้งหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า คำสั่งให้โจทก์ออกจากงานไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง ฟ้องแย้งบรรยายชัดแจ้งว่าตำแหน่งของโจทก์มีผู้ใต้บังคับบัญชากว่า 300 คน และเป็นหน่วยงานหลักที่ก่อให้เกิดรายได้แก่จำเลยที่ 2 หากผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโจทก์อาจเกิดปัญหารุนแรงถึงขั้นนัดหยุดงานซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 รวมทั้งภาพพจน์ขององค์กร เมื่อโจทก์แสวงหาผลประโยชน์โดยทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานบริษัทขนส่ง จำกัด และกรรมการกิจการสัมพันธ์ จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 แต่ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ให้ เห็นว่า ตามฟ้องแย้งบรรยายถึงเรื่องความเสียหายต่อภาพพจน์ของจำเลยที่ 2 อย่างชัดแจ้งว่าเกิดจากการกระทำส่อไปในทางทุจริตของโจทก์ โดยคิดค่าเสียหายดังกล่าวจากการที่อาจเกิดปัญหาในการจัดการเดินรถของจำเลยที่ 2 อย่างรุนแรงถึงขั้นมีการนัดหยุดงานซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตที่จำเลยที่ 2 คาดคิดเอาเอง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าพนักงานขับรถของจำเลยที่ 2 ก่อปัญหารุนแรงให้แก่จำเลยที่ 2 จนถึงขั้นนัดหยุดงานจากการกระทำของโจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่เกิดความเสียหายต่อภาพพจน์ต่อการให้บริการประชาชน ขาดความเชื่อมั่นและสูญเสียรายได้ต่อเนื่องอย่างแน่แท้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิขอคิดค่าเสียหายนี้จากการกระทำผิดของโจทก์ กรณีไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องแย้งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share