คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9471/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยบรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนแบตเตอรี่พร้อมดวงไฟเที่ยวติดตามแสวงหาล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองทุกชนิดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากไม่พบสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้ระบุว่าจำเลยลงมือล่าสัตว์ชนิดใดด้วยวิธีการอย่างไรและใช้อาวุธปืนของกลางร่วมในการกระทำความผิดอย่างไร ซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด รวมทั้งไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่และสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิดจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4, 16, 47, 57 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 4, 6, 16 (15), 27, 29 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 92, 371 ริบอาวุธปืนยาว ลูกซองเดี่ยว 1 กระบอก อาวุธปืนยาวบรรจุปาก (ปืนแก๊ป) 1 กระบอก มีดพก 1 เล่ม และแบตเตอรี่พร้อมดวงไฟ 1 ชุด ของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16, 47 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (15), 27 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียบอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ และเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 หนึ่งในสามเป็นจำคุก 2 ปี 16 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน ริบอาวุธปืนมีดและแบตเตอรี่พร้อมดวงไฟของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16, 47 ให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันมีอาวุธปืน ปรับ 3,000 บาท และฐานร่วมกันพาอาวุธปืน ปรับ 2,000 บาท รวมปรับ 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนภายในกำหนดเวลา 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้เพิ่มโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตมมคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง เจ้าพนักงานจับจำเลยและยึดอาวุธปืนยาวลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จำนวน 1 กระบอก อาวุธปืนยาวบรรจุปากประกอบขึ้นเอง ไม่ปรากฏเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 4 นัด มีดพก 1 เล่ม และแบตเตอรี่พร้อมดวงไฟ 1 ชุด เป็นของกลาง โดยกล่าวหาว่าจำเลยกับพวกอีกหนึ่งคนที่หลบหนี ร่วมกันมีและพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และของกลางดังกล่าวซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ติดตัวไปและร่วมกันพยายามติดตามแสวงหาล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองทุกชนิดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง บริเวณที่เกิดเหตุ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนแบตเตอรี่พร้อมดวงไฟเที่ยวติดตามแสวงหาล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองทุกชนิดในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากไม่พบสัตว์ป่าดังกล่าว ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยลงมือล่าสัตว์ชนิดใดด้วยวิธีการอย่างไรและใช้อาวุธปืนของกลางร่วมในการกระทำผิดอย่างไรซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดรวมทั้งไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่และสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิดจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์ได้ ส่วนมีดพกและแบตเตอรี่พร้อมดวงไฟ 1 ชุด ของกลาง เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า มีดพกและแบตเตอรี่พร้อมดวงไฟของกลางให้คืนเจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share