คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9454/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ว่าก่อนคดีนี้โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341, 83 ต่อศาลจังหวัดนางรอง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 ก็ตามแต่คดีนี้พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ป.อ. มาตรา 83, 91, 341 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 482,000 บาท แก่ผู้เสียหายต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2545 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาของศาลจังหวัดนางรองที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องนั้นโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและศาลจังหวัดนางรองมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ดังนั้น ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น โจทก์ร่วมได้ถอนฟ้องไปในภายหลังที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ และภายหลังที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้อีกด้วย การถอนฟ้องดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด และย่อมไม่มีผลกระทบต่อคดีนี้ กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 36 (3) และ 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 482,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4278/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นายจักรกฤษณ์ ชมชื่น ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 482,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (ที่ถูก โจทก์ร่วม) นับโทษของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2483/2546 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่าก่อนคดีนี้โจทก์ร่วมได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนางรองเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1307/2544 ต่อมาโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ตามคำร้องขอถอนฟ้องและรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 มิถุนายน 2545 ซึ่งทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยระงับลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) เห็นว่า แม้ว่าก่อนคดีนี้โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ต่อศาลจังหวัดนางรอง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1307/2544 เอกสารหมาย ล.1 ก็ตาม แต่คดีนี้พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 341 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 482,000 บาท แก่ผู้เสียหายต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2545 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1307/2544 ของศาลจังหวัดนางรองที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและศาลจังหวัดนางรองมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องและสำเนารายงานกระบวนพิจารณาท้ายฎีกา ดังนั้น ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น โจทก์ร่วมได้ถอนฟ้องไปในภายหลังที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้และภายหลังที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้อีกด้วย การถอนฟ้องดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด และย่อมไม่มีผลกระทบต่อคดีนี้กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 (3) และ 39 (2) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share