แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยยกขึ้นฎีกาโดยมิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ล้มละลาย ห้างจำเลยที่ 1 ต้องเลิกกันและต้องมีการชำระบัญชี แต่ห้างยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ชำระบัญชีและมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามของห้างได้ตาม มาตรา 1259(1) โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการให้จำเลยรับผิดในหนี้ภาษีอากรได้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ก่อนครบกำหนด 2 ปี นับแต่จำเลยที่ 3ออกจากหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 จึงยังคงต้องรับผิดในหนี้ของห้างอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068,1050 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไม่ครบถ้วน ส่วนที่ยื่นไว้ก็ปรากฏว่าแสดงรายการค้าต่ำกว่ากำหนดรายรับขั้นต่ำตามที่กองภาษีการค้ากำหนดเจ้าหน้าที่ของโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1ให้มาพบกับมีหมายเรียกให้มาไต่สวนให้ส่งมอบเอกสารที่ได้ดำเนินกิจการมาให้ตรวจสอบ จำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ไต่สวนทั้งไม่ส่งเอกสารเจ้าพนักงานประเมินจึงทำการตรวจสอบและทำรายงานการตรวจสอบภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลประเมินภาษีแล้วให้จำเลยที่ 1ทราบ จำเลยที่ 1 ทราบแล้วมิได้อุทธรณ์แต่อย่างใด ฉะนั้นภาษีการค้าที่เจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงเป็นภาษีเด็ดขาดตามนัย ป.รัษฎากร มาตรา 87 ทวิ,88,21 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินภาษีที่เจ้าพนักงานประเมิน ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ เจ้าหน้าที่ของโจทก์หมายเรียกมาสอบถามและให้ส่งเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบแต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปไต่สวนและไม่ส่งเอกสาร เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินและแจ้งผลการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ทราบแล้วจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ หนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นหนี้เด็ดขาดตามนัย ป.รัษฎากร มาตรา 71(1),21 จำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน8,278,593.69 บาท จำนวนเงินดังกล่าวเป็นหนี้แน่นอนและไม่น้อยกว่า500,000 บาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยค้างชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีบำรุงเทศบาล พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 8,278,593.69 บาท โจทก์ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่ไม่อาจกระทำได้ เพราะจำเลยที่ 1 เลิกกิจการปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลบหนี โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ถึง 2 ครั้ง มีระยะเวลห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยทั้งสามก็ไม่ชำระหนี้ภาษีอากรให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะถึงยึดมาชำระหนี้ได้ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้ที่มีจำนวนแน่นอนเกินกว่า 500,000 บาท ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 มิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เปลี่ยนจากจำเลยที่ 3 มาเป็นจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2526 ในรอบระยะเวลาปีบัญชี พ.ศ. 2519ถึง พ.ศ. 2523 จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่โจทก์มิได้ใช้อำนาจออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวน และออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสั่งให้จำเลยยื่นรายการหรือพยานหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19โจทก์ประเมินภาษีขึ้นเอง โดยไม่ทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตจึงไม่มีอำนาจฟ้องมูลหนี้ตามฟ้องเป็นมูลหนี้ที่ไม่แน่นอน การประเมินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่ถูกต้องและไม่แน่นอน จำเลยทั้งสามไม่มีมูลหนี้ตามที่โจทก์ฟ้อง เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยังคงไม่ได้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 และชำระบัญชี แต่จำเลยทั้งสามก็มิได้ประกอบธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไม่เป็นเหตุให้โจทก์ประเมินภาษีแล้วนำมาฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 2 ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายไปแล้ว ตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.191/2524 ของศาลชั้นต้น ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าทนายความนั้นให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดให้ตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3ยกขึ้นฎีกาเป็นประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2527 ห้างจำเลยที่ 1ต้องเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055(5)ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง อำนาจต่าง ๆ อยู่ที่ผู้ชำระบัญชีต้องฟ้องจำเลยที่ 1 โดยผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดทุกคนของจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทน การฟ้องจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ประเด็นที่จำเลยยกขึ้นฎีกานี้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ในประเด็นนี้เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการล้มละลาย ห้างจำเลยที่ 1 ต้องเลิกกัน และต้องมีการชำระบัญชีซึ่งห้างยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ชำระบัญชีตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1249, 1251 ฉะนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ชำระบัญชี และผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามของห้างได้ตามมาตรา 1259(1) โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการให้จำเลยรับผิดในหนี้ภาษีอากรได้
ประเด็นต่อมาคือโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่าเมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 3 ซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2514ถึงวันที่ 7 กันยายน 2526 หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนตัวหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นจำเลยที่ 2 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 จำเลยที่ 3ทำหน้าที่หุ้นส่วนผู้จัดการวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2526จึงพ้นจากหน้าที่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2526 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2528 ก่อนครบกำหนด 2 ปี นับแต่ออกจากหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 จึงยังคงต้องรับผิดในหนี้ของห้างอยู่ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068, 1080 วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะยังคงเป็นหุ้นส่วนซึ่งจำกัดความรับผิดในห้างจำเลยที่ 1 ต่อมาก็ตาม
ประเด็นต่อไปมีว่า การประเมินของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 และที่ 3มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า เมื่อจำเลลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไม่ครบถ้วน ส่วนที่ยื่นไว้ก็ปรากฏว่าแสดงรายการการค้าต่ำกว่ากำหนดรายรับขึ้นต่ำตามที่กองภาษีการค้ากำหนดไว้ตามเอกสารหมาย จ.7 เจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงมีหนังสือเชิญจำเลยที่ 1 มาพบและหมายเรียกให้มาไต่สวนกับให้ส่งมอบเอกสารที่ได้ดำเนินกิจการมาให้ตรวจสอบ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5, จ.6, จ.13 แต่จำเลยที่ 1ไม่ไปให้ไต่สวนและไม่ส่งเอกสารเจ้าพนักงานประเมินจึงทำการตรวจสอบและทำรายงานการตรวจสอบภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2521 ตามเอกสารหมาย จ.14 แล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบตามเอกสารหมาย จ.15-จ.17 กับประเมินภาษีในปี พ.ศ. 2522,2523 แล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบด้วย ตามเอกสารหมาย จ.18-จ.20จำเลยที่ 1 ทราบแล้วมิได้อุทธรณ์แต่อย่างใด ฉะนั้นภาษีการค้าที่เจ้าพนักงาประเมินดังกล่าวจึงเป็นภาษีเด็ดขาด ตามนัยประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ, 88, 21 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนภาษีที่เจ้าพนักงานประเมิน ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2519-2521 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีหมายเรียกมาสอบถามและให้ส่งเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบแต่จำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ไต่สวนและไม่ส่งเอกสารเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินและแจ้งผลการประเมินไปยังจำเลยที่ 1ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21-จ.24 จำเลยที่ 1 ทราบแล้วมิได้อุทธรณ์แต่อย่างใด ฉะนั้นหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นหนี้เด็ดขาดตามนัยประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1), 2 เมื่อรวมเงินภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,278,593.69 บาท จำนวนเงินดังกล่าวเป็นหนี้แน่นอน และไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1ให้ล้มละลายได้ จำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่งปีที่ประเมินภาษีเงินต้องรับผิดในหนี้ของห้างดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.