คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยินยอมให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้บางส่วนเป็นประกันหนี้ของ ส. ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์ถูกจำเลยกล่าวหาว่าจะต้องร่วมรับผิดกับ ส. ต่อมาเมื่อความปรากฏว่าโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในอันจะต้องร่วมรับผิดในการกระทำของ ส. ต่อจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกคืนได้ แต่การที่จำเลยหักเงินบำเหน็จดังกล่าว ก็โดยความยินยอมของโจทก์ ดังนี้แม้โจทก์จะได้ทวงถามให้จำเลยคืนเงินบำเหน็จที่จำเลยพักไว้และการที่จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จคืนให้โจทก์ ก็จะถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเงินบำเหน็จที่หักไว้ต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2498 ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้จัดการอุตสาหกรรมห้องเย็น สาขากรุงเทพ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,100 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 363,000 บาทซึ่งจำเลยได้อนุมัติให้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528 แต่เมื่อโจทก์ขอรับเงินบำเหน็จจำนวนดังกล่าว จำเลยกลับหักไว้เป็นเงิน90,419 บาท โดยอ้างว่าเพื่อเป็นประกันหนี้ของนายสำเนา เจริญผลพนักงานของจำเลยที่มีต่อจำเลยซึ่งโจทก์ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในหนี้ของนายสำเนา เจริญผล จำเลยหักเงินบำเหน็จของโจทก์โดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลยแต่ประการใด โจทก์ต้องรับผิดใช้เงินบำเหน็จจำนวน 90,419 บาทกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528ถึงวันฟ้องอีกเป็นเงิน 16,953 บาท รวมเป็นเงิน 107,372 บาท ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยชำระเงิน 107,372 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้จัดการองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น สาขาขอนแก่น โจทก์ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของนายสำเนา เจริญผล ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในการนำเงินที่เก็บได้จากการขายสินค้ามาส่งมอบให้พนักงานการเงิน เป็นเหตุให้นายสำเนานำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวหลายครั้งรวมเป็นเงิน107,074 บาท การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยระเบียบบริหารงานสาขาขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2523 เอกสารหมาย 1 ท้ายคำให้การ ข้อ 4ข้อ 5 และข้อ 9 เป็นการผิดสัญญาจ้าง หนี้ของนายสำเนา เจริญผลเป็นหนี้ผูกพันที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2519 เอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำให้การข้อ 13 เมื่อโจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินบำเหน็จจากจำเลย จำเลยได้บังคับแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์จะต้องรับผิดชอบให้หนี้ของนายสำเนา เจริญผล จำนวน 90,419 บาทโจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินจำนวนดังกล่าวตามบันทึกข้อความเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำให้การ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินบำเหน็จจตามฟ้อง โจทก์ไม่เคยทวงถามก่อนฟ้องจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ย
ในวันพิจารณา โจทก์แถลงรับว่า เอกสารหมายเลข 1 เอกสารหมายเลข 2ท้ายคำให้การมีอยู่จริงและใชับังคับได้ โจทก์ลงชื่อในเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำให้การแต่เพราะถูกบีดบังคับ มิฉะนั้นจำเลยจะไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้ และจำเลยแถลงรับว่าเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์ส่งศาลมีอยู่จริงและถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ มีคำสั่งให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่เป็นเหตุให้นายสำเนา เจริญผล ผู้ใต้บังคับบัญชานำเงินของจำเลยที่เก็บได้จากการจำหน่ายสินค้าไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโจทก์มีความผูกพันต้องรับผิดตามข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จ และโจทก์แสดงเจตนายินยอมให้จำเลยหักเงินบำเหน็จไว้เป็นประกันส่วนที่เป็นหนี้ของนายสำเนา เจริญผล จำเลยมีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิขอคืนในชั้นนี้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้นายสำเนา เจริญผลผู้ใต้บังคับบัญชานำเงินของจำเลยที่เก็บได้จากการจำหน่ายสินค้าไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการฟังข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลย โดยโจทก์มิได้แถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าวประการใด และจำเลยก็มิได้นำสืบข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นตามที่จำเลยมีหน้าที่นำสืบ เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหักเงินบำเหน็จของโจทก์วได้โดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลยแต่ประการใด โจทก์ยังแถลงยืนยันตามฟ้องว่าได้ลงชื่อในบันทึกที่ยินยอมให้จำเลยหักเงินบำเหน็จเนื่องจากถูกบีบบังคับจากจำเลยว่า ถ้าจำเลยไม่ลงชื่อโจทก์จะไม่จ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่เหลือให้ คำฟ้องและคำแถลงของโจทก์ยังโต้เถียงคัดค้านอยู่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์แสดงเจตนายินยอมหาชอบไม่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จฯว่าโจทก์มีข้อผูกพันอันใดที่ต้องชดใช้เงินแก่จำเลย และจำเลยมิได้นำสืบข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นตามที่จำเลยมีหน้าที่นำสืบ และมิได้วินิจฉัยเอกสารที่โจทก์ส่งศาลไว้เป็นประการใด คดีจึงปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีและพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วินิจฉัยว่า จำเลยหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้โดยอ้างว่ายังมีคดีที่จำเลยฟ้องนายสำเนา เจริญผล ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งโจทก์อาจต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยให้รอฟังผลของคำพิพากษาของศาลก่อนตามความเห็นของผู้อำนวยการของจำเลย ต่อมาเมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้นายสำเนา เจริญผลและผู้ค้ำประกันชำระหนี้แก่จำเลย โจทก์ได้ไปยื่นขอรับเงินบำเหน็จที่จำเลยหักไว้ แต่ผู้อำนวยการของจำเลยไม่ยอมจ่ายให้โดยอ้างว่าเรื่องยังไม่เรียบร้อย โดยจำเลยยังมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่นายสำเนา เจริญผล ดังนี้ การที่มีการหักเงินบำเหน็จของโจทก์เป็นเพียงการปฏิบัติไปตามความเห็นของผู้อำนวยการของจำเลย เมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วก็ควรจะรีบจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ไปไม่มีเหตุที่จำเลยจะหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ได้ การที่จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2528 อันเป็นวันที่ผู้อำนวยการของจำเลยมีความเห็นให้หักเงินบำเหน็จของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 90,419 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยตามประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงาน และโจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินบำเหน็จอย่างไรหรือไม่ และในข้ออื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยตามนัยที่ระบุในคำพิพากษาฎีกาครั้งแรก กลับวินิจฉัยว่าจำเลยฟ้องนายสำเนา ซึ่งโจทก์อาจต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาการที่ให้รอฟังคำพิพากษาของศาลก่อนตามความเห็นของผู้อำนวยการของจำเลย ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ได้ เป็นการไม่ถูกต้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามนัยที่ระบุในคำพิพากษาฎีกาครั้งแรกแล้วพิพากษา แล้วพิพากษาชี้ขาดตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงาน จำเลยไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่โจทก์แล้วจำเลยไม่ชำระ ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2528 อันเป็นวันที่ผู้อำนวยการของจำเลยมีความเห็นให้หักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 90,419 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยอมรับว่าในระหว่างที่โจทก์เป็นผู้จัดการองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นสาขาขอนแก่น นายสำเนาซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาได้นำสินค้าขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น สาขาขอนแก่น ออกไปขายแล้วไม่นำเงินส่งคืนองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น สาขาขอนแก่น หลายครั้ง รวมเป็นเงิน107,079 บาท แต่โจทก์มิได้ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของนายสำเนาในการนำเงินค่าสินค้ามาส่งมอบต่อพนักงานการเงินแต่อย่างใด เป็นเหตุให้นายสำเนานำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับฟังได้แล้วว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่อและบกพร่อมต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยไม่ควบคุมดูแลพนักงาน และรับผิดชอบในทรัพย์สินขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นสาขาขอนแก่น ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อันเป็การไม่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของจำเลย เป็นการผิดสัญญาจ้าง ตามระเบียบข้อบังคับองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยระเบียบการบริหารงานสาขาขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2523 ข้อ 4, 5, 9 โจทก์ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของนายสำเนา อันถือได้ว่าเป็นหนี้ผูกพันที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย และจะต้องชำระให้แก่จำเลยตามข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติงานขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นพ.ศ. 2519 ข้อ 13 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของนายสำเนาในการนำเงินที่เก็บได้จากการขายสินค้ามาส่งมอบต่อพนักงานการเงิน เป็นเหตุให้นายสำเนานำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่า นายสำเนาซื้อปลา ปลาหมึกและน้ำปลาจากจำเลย แล้วค้างชำระราคาเป็นเงิน 107,079 บาท นายสำเนาผ่อนชำระไปบ้างแล้ว คงเป็นหนี้จำเลยจำนวน 90,419 บาท ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายสำเนาทุจริตยักยอกเงินของจำเลย โจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงาน อันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า เมื่อโจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินบำเหน็จโจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้เป็นประกันหนี้ของนายสำเนา จำนวน 90,419 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อขอรับบำเหน็จจำนวนนี้ และเพราะโจทก์ยินยอมดังกล่าวรวมทั้งไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จที่จำเลยหักไว้ จำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเงินบำเหน็จตามฟ้อง พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้เป็นประกันหนี้ของนายสำเนาจำนวน 90,419 บาท แต่โจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงานแต่อย่างใด ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ยินยอมให้จำเลยหักเงินบำเหน็จของโจทก์จำนวนดังกล่าวไว้ แต่ก็เป็นการหักเงินบำเหน็จนั้นไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ของนายสำเนา เมื่อโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อและบกพร่องต่อหน้าที่ในการปฏิบัติงาน อันต้องร่วมรับผิดในการกระทำของนายสำเนาต่อจำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิหักเงินบำเหน็จของโจทก์ไว้ต่อไปโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกคืนได้ ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยเงินบำเหน็จดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ทวงถามให้จำเลยใช้เงินบำเหน็จที่จำเลยหักไว้ แต่จำเลยได้หักเงินบำเหน็จดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ การที่จำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์จะถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ได้ จำเลยไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยเงินบำเหน็จตามฟ้อง…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินบำเหน็จตามฟ้องนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share