คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1328/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ส่งรถคืน ต่อมาที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติให้ พ.กับท. พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์หลังจากนั้น พ.กับท. อ้างว่าเป็นกรรมการร่วมกันลงชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาต ดังนี้เมื่อหนังสือรับรองของโจทก์มีชื่อ พ.กับท. เป็นกรรมการโดยไม่มีการจดทะเบียนถอนชื่อ ออกจากการเป็นกรรมการ ต้องถือว่า พ.กับท. ไม่ได้พ้นจากการเป็นกรรมการจึงถือได้ว่าพ.กับท. ได้ขอถอนฟ้องแทนโจทก์แล้วโจทก์จะกลับมาขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาตหาได้ไม่ จำเลยเป็นบุตรของ พ.และเป็นน้องภรรยาของท. แต่การที่พ.กับท. ขอถอนฟ้องในนามของโจทก์จะถือว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับของ พ.กับท. เป็นปฏิปักษ์แก่กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ไม่ได้ เพราะการขอถอนฟ้องจะเป็นผลดีและผลเสียต่อโจทก์ ผลนั้นย่อมตกแก่ พ.กับท.ในฐานะกรรมการของโจทก์ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกัน

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์โดยนายศักดา บุณยรักษ์ และนายวิชัย นิวาตวงศ์ กรรมการ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์โดยนายพยัพ ศรีกาญจนาและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ศักดิเดช ภาณุพันธ์กรรมการยื่นคำร้องลงวันที่ 18 ตุลาคม 2535 ขอถอนฟ้องคดีนี้ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2534 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางว่า นายพยัพ และ หม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ไม่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของโจทก์ให้ถอนฟ้องคดีนี้ โดยเฉพาะบุคคลทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่าที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ สมัยวิสามัญครั้งที่1/2534 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ได้มีมติให้บุคคลทั้งสองพ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้ว บุคคลทั้งสองไม่ใช่ผู้ฟ้องคดี ไม่ชอบที่จะถอนฟ้องคดีนี้ จำเลยเป็นบุตรของนายพยัพและเป็นน้องภรรยาของหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ร่วมคบคิดกันถอนฟ้องคดีนี้โดยฉ้อฉล เป็นการไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ถอนฟ้อง
ศาลแรงงานกลางสั่งคำร้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นว่า เอกสารท้ายฟ้องระบุว่า กรรมการสองคนลงชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของโจทก์ ผูกพันโจทก์ได้ นายพยัพ และ หม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ต่างเป็นกรรมการของโจทก์ อีกทั้งตามคำร้องของโจทก์ระบุว่าตราสำคัญที่ประทับในการถอนฟ้อง เป็นตราสำคัญของโจทก์ จึงถือว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ได้กระทำการในนามโจทก์ การสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือสั่งเป็นอย่างอื่นให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่านายพยัพ และหม่อมราชวงศ์ ทินศักดิ์มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ ร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ แต่งตั้งทนายความและยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีนี้ ไม่ใช่เป็นการกระทำแทนและในนามโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีมติที่จะถอนฟ้องขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ และที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของโจทก์สมัยวิสามัญครั้งที่ 1/2534 ได้มีมติให้นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์พ้นจากตำแหน่งกรรมการของโจทก์ไปแล้วนั้นเห็นว่า ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องปรากฏว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์เป็นกรรมการของโจทก์โดยไม่มีการจดทะเบียนถอนชื่อบุคคลทั้งสองจากการเป็นกรรมการของโจทก์ต้องถือว่านายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ไม่ได้พ้นจากการเป็นกรรมการของโจทก์ และตามหนังสือรับรองข้อ 3 ระบุว่า จำนวนหรือชื่อกรรมการที่ลงชื่อผูกพันโจทก์ได้ คือกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ ประกอบกับตามหนังสือรับรองดังกล่าวและข้อบังคับของโจทก์ตามเอกสารท้ายคำร้องของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2534 ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดอำนาจของกรรมการว่าถ้าโจทก์ไม่มีมติให้ถอนฟ้องคดีใด กรรมการของโจทก์จะทำการแทนโจทก์ขอถอนฟ้องคดีนั้นไม่ได้ จึงเห็นว่าการที่นายพยัพ และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ขอถอนฟ้องคดีนี้ ถือได้ว่านายพยัพ และ หม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ในฐานะกรรมการของโจทก์ได้ขอถอนฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของนายพยัพ และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์กับผลประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์ จำเลยเป็นบุตรของนายพยัพและเป็นน้องภรรยาของหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ถือว่าเป็นพวกเดียวกันนายพยัพ และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์จึงไม่สามารถกระทำการแทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 80 นั้น เห็นว่าการขอถอนฟ้องคดีนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อโจทก์ ผลดีหรือผลเสียนั้นย่อมตกได้แก่นายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ในฐานะที่เป็นกรรมการของโจทก์ด้วยในลักษณะอย่างเดียวกันจะถือว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียของโจทก์กับของนายพยัพและหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์ในการถอนฟ้องคดีนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ไม่ได้ และด้วยเหตุดังวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นว่านายพยัพ และหม่อมราชวงศ์ทินศักดิ์มีอำนาจถอนฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share