แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุในบ้าน มีไฟนีออนเปิดสว่างอยู่ 6 ดวง ผู้เสียหายทั้งแปด และ ม. ก็อยู่ที่บ้านเห็นจำเลยที่ 1 กับพวกอีกคนหนึ่งถืออาวุธปืนสั้นเข้ามาในบ้านโดยมีพวก อีก 2 คน อยู่นอกบ้าน บังคับเอาทรัพย์จากผู้เสียหายทั้งแปดไป เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะพยานแต่ละคนมีโอกาสเห็น จำเลยที่ 1 เป็นเวลานาน เมื่อจับจำเลยที่ 1 ได้ และจัดให้มีการชี้ตัวคนร้ายพยานทั้งหมดดังกล่าว ก็ชี้ได้ถูกต้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ ร่วมปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปติดตาม เอาโทรทัศน์ กบไฟฟ้า และสร้อยคอทองคำ ของผู้เสียหาย จากผู้รับของดังกล่าวมาเป็นของกลาง นอกจากนั้นยังให้การ รับสารภาพในชั้นสอบสวน อันสนับสนุนให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายจริง เมื่อพยานโจทก์ทุกคนไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน เชื่อว่าทุกคนได้เบิกความตามสัตย์จริงหาได้แกล้งกล่าวหา จำเลยที่ 1 ไม่ พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย
ย่อยาว
คดีสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1753/2540 และหมายเลขแดงที่ 1754/2540 ของศาลชั้นต้นโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนนี้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เรียกจำเลยในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1753 ว่า จำเลยที่ 4 และเรียกจำเลยในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1754/2540 ว่า จำเลยที่ 5 ต่อมาคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นไม่ทราบชนิดและขนาดจำนวน 2 กระบอกไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ พร้อมกระสุนปืน 2 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับร่วมกันพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์และร่วมกันปล้นทรัพย์เงินสด โทรทัศน์ กบไส ไม้ไฟฟ้า และสร้อยข้อมือทองคำ 1 เส้น รวมราคา 35,600 บาทของนายจวน ชุมจันทร์ ผู้เสียหายที่ 1 และนางรมณียา ชุมจันทร์ผู้เสียหายที่ 2 รถจักรยานยนต์ 1 คัน สร้อยคอทองคำ 1 เส้นรวมราคา 49,100 บาท ของนายสถาพร ขาวโป่ง ผู้เสียหายที่ 3สร้อยคอทองคำ 1 เส้น ของนางสาวตุ๊กตา แดงคล้าย ผู้เสียหายที่ 4 สร้อยคอทองคำ 1 เส้น ของนางสาวยุพิน เรืองรัตน์ ผู้เสียหายที่ 5 สร้อยคอทองคำ 1 เส้น ของนางสาววรรณา ไหมทิมผู้เสียหายที่ 6 สร้อยคอทองคำ 1 เส้น แหวนทองคำ 1 วงรวมราคา 3,750 บาท ของนางสาวราชนก แก้วหนู ผู้เสียหายที่ 7และสร้อยคอทองคำ 1 เส้น ของนางสาวดุษฎี ชูรักษ์ ผู้เสียหายที่ 8ไปโดยทุจริต ในการปล้นทรัพย์ของจำเลยทั้งสามกับพวกใช้อาวุธปืนดังกล่าวจี้และขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะยิงประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งแปดกับพวก ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ ต่อมาเจ้าพนักงานยึดได้ทรัพย์บางส่วนของผู้เสียหายบางคนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 340, 340 ตรี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 25,600 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จำนวน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 2,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 และจำนวน 2,500 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 8 ด้วย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 23 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 24 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี กับให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 25,600 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จำนวน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 2,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 1,250 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 และจำนวน 2,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 8 ด้วย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 6 เดือน ลงโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกกระทงละ 4 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนและลงโทษ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละไม่เกิน 5 ปี ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีและพาอาวุธปืนตามฟ้องหรือไม่ ชอบที่ศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 คือยกฟ้องโจทก์ ในข้อหาดังกล่าวเสีย เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการเดียวว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าขณะเกิดเหตุในบ้านของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มีไฟนีออนเปิดสว่างอยู่ 6 ดวง ผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 8 และนางมณฑา แก้วหนู ก็อยู่ที่บ้านหลังนี้ในขณะเกิดเหตุด้วยดังนั้น ที่ผู้เสียหายทั้งแปดและนางมณฑาเบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 กับพวกอีกคนหนึ่งถืออาวุธปืนสั้นเข้ามาในบ้านโดยมีพวกอีก 2 คน อยู่นอกบ้าน จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกก็บังคับเอาทรัพย์และค้นเอาทรัพย์จากผู้เสียหายทั้งแปดตามรายการในบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.5 ไปนั้น เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะพยานแต่ละคนมีโอกาสเห็นจำเลยที่ 1 เป็นเวลานาน ซึ่งเมื่อจับจำเลยที่ 1 ได้ และจัดให้มีการชี้ตัวคนร้าย พยานทั้งหมดดังกล่าวก็ชี้ได้ถูกต้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมปล้นทรัพย์ ตามบันทึกการชี้ตัวและภาพถ่ายหมาย จ.7 จ.8 จ.12 จ.13 จ.15 จ.16 จ.18 จ.19 จ.24 จ.25 จ.37 จ.38 และ ป.จ.3 ถึง ป.จ.5 นอกจากนั้นในชั้นจับกุมนายดาบตำรวจศฤงคาร ขาวสังข์ พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปติดตามเอาโทรทัศน์และกบไส ไม้ไฟฟ้าของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จากผู้รับของดังกล่าวมาเป็นของกลางด้วย อันสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยที่ 1ได้ร่วมกับพวกปล้นเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2ไป ยิ่งกว่านั้นในชั้นสอบสวนพันตำรวจโทดิลก เจียมพิริยะกุลพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความว่า พยานได้แจ้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.1 และได้นำตัวจำเลยที่ 1 ไปตรวจยึดโทรทัศน์และสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ถูกปล้นไปด้วย นอกจากนี้ยังจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวคนร้ายรวมทั้งได้ทำบันทึกและถ่ายภาพการชี้ตัวและการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไว้ด้วยตามเอกสารและภาพถ่ายหมาย ป.จ.3 ถึง ป.จ.9 อันสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายจริง จำเลยที่ 1 จึงให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้น เมื่อพยานโจทก์ทุกคนไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนเช่นนี้เชื่อว่าทุกคนได้เบิกความตามสัตย์จริง หาได้แกล้งกล่าวหาจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน