คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและไม่ปรากฏเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าเหตุใดจำเลยจึงต้องปรับลดหรือยุบแผนกในส่วนที่โจทก์ทำงาน มีเหตุผลหรือความจำเป็นใดที่จะต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยพยายามหางานในตำแหน่งเหมาะสมให้โจทก์ทำก่อนที่จะเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเลือกปฏิบัติหรือไม่ เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและข้อเท็จจริงในสำนวนยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้
จำเลยให้การว่าจำเป็นต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่นำสืบว่าจำเลยต้องการลดตำแหน่งงานโดยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน เท่ากับจำเลยยอมรับว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่ามีการยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานจึงไม่ชอบ ดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่จำเลยเลือกเลิกจ้างโจทก์เพียงคนเดียวจากลูกจ้างในหน่วยงาน 30 คน โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเหตุผล เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามสภาพการจ้างเดิม และจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างดังกล่าวแต่ละเดือนจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากมีเหตุไม่ควรรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยมีเหตุจำเป็นที่จะต้องยุบแผนกในส่วนที่โจทก์ทำงาน โดยที่ไม่มีสาเหตุกลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อยอมรับการพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยและรับเงินในส่วนที่โจทก์พึงได้รับแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าจำเป็นต้องปรับลดหน่วยงานและยุบหน่วยงานที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ แม้ในคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจะปรากฏผลแห่งคำวินิจฉัยว่าจำเลยมีเหตุจำเป็นที่จะต้องยุบแผนกในส่วนที่โจทก์ทำงาน โดยไม่มีสาเหตุกลั่นแกล้งโจทก์ การเลิกจ้างของจำเลยถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวไม่ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และไม่ปรากฏเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าเหตุใดจำเลยจึงต้องปรับลดหรือยุบแผนกในส่วนที่โจทก์ทำงาน จำเลยมีความจำเป็นหรือมีเหตุผลใดที่จะต้องเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้พยายามหางานในตำแหน่งที่เหมาะสมให้โจทก์ทำก่อนที่จะเลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเลือกปฏิบัติหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปครบถ้วนและไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย เช่นนี้ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและข้อเท็จจริงในสำนวนยุติเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้จึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การว่าจำเป็นต้องยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่จำเลยกลับนำสืบว่าจำเลยต้องการลดตำแหน่งงานโดยไม่ได้นำสืบว่าจำเลยยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานเท่ากับจำเลยยอมรับว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่ามีการยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงานจึงไม่ชอบ ดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้ยุบหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน แต่จำเลยเลือกเลิกจ้างโจทก์เพียงคนเดียวจากจำนวนลูกจ้างในหน่วยงาน 30 คน โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเหตุผล เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ เห็นสมควรให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อพิจารณาพิพากษาใหม่โดยให้กำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งจำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 57 วรรคสองและวรรคสาม
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share